Your browser doesn’t support HTML5
เสียงยุงบินทำให้หลายคนอยากจะปัดหรืออยากกำจัดสิ่งกวนใจเหล่านั้นไปให้เร็วที่สุด แต่นักวิทยาศาสตร์ที่สหรัฐฯ เปิดเผยว่าพวกเขาพัฒนาแอปฯ สำหรับโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ที่ช่วยบันทึกข้อมูลเสียงของยุงที่เป็นประโยชน์ต่อการป้องกันโรคระบาดจากยุงได้
ฮาริปรียา ไวเดอี นารายะนัน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขรัฐแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่าแอปฯดังกล่าวจะสามารถระบุชนิดของยุงที่เป็นอันตรายได้ เช่นยุงที่เป็นพาหะของโรคมาลาเรียและไข้เลือดออก ที่ทำให้คนป่วยหนักหรือเสียชีวิตได้
เธอเริ่มพัฒนาแอปฯ นี้ ที่ชื่อว่า Abuzz ขณะที่เรียนอยู่ที่มหาวิทยาบัยสแตนฟอร์ด ในรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยเชื่อว่าเทคโนโลยีดังกล่าวจะสามารถเก็บข้อมูลชนิดของยุงอันตรายในบริเวณต่างๆ ซึ่งเป็นข้อมูลที่นำมาใช้เพื่อป้องกันการระบาดไม่ให้ขยายวงกว้างได้
ผู้ใช้เพียงเเต่เปิดแอปฯ ให้อัดเสียงยุงบินประมาณ 1 ถึง 2 วินาที และซอฟท์แวร์ก็จะสามารถระบุชนิดของยุงซึ่งต่างก็มีเสียงจากการกระพือปีกที่มีลักษณะเฉพาะตามสายพันธุ์
วิธีนี้ง่ายกว่า เร็วกว่าและใช้เงินน้อยกว่าวิธีดั้งเดิม ซึ่งต้องใช้เเรงงานดักจับยุงและฝึกคนให้ศึกษาลักษณะความแตกต่างของยุงแต่ละชนิด โดยที่ทั่วโลกมียุง 3,500 พันธุ์ ในจำนวนดังกล่าวมี 40 ชนิดที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ ตามข้อมูลของศาสตราจารย์ มานู ปรากาช ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาแอปฯ ดังกล่าว
ศาสตราจารย์ปรากาชกล่าวว่า การใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนเป็นอุปกรณ์ ทำให้คนจำนวนมากมีเครื่องมือที่จะเก็บข้อมูลเพื่อให้ได้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่กว่าวิธีเก็บตัวอย่างยุงจากแหล่งต่างๆ ก่อนหน้านี้
เขากล่าวว่า ผู้ใช้ไม่ต้องมีสมาร์ทโฟนรุ่นที่หรูหราก็สามารถใช้แอปฯ ที่ว่านี้ได้ ซึ่งทำงานได้ทั้งบนระบบปฏิบัติการ Android และ iOS
หากว่าแอปฯ สามารถสร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่จากการใช้ของคนทั่วโลก นักวิจัยสามารถนำข้อมูลมาสร้างแผนที่ ว่าอยู่สายพันธุ์ที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์อยู่ที่บริเวณใดบ้างในโลก
วิธีนี้จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์และบุคคลากรด้านสาธารณสุขประเมินความเสี่ยงของบริเวณต่างๆ ที่อาจเกิดการแพร่ระบาดของโรคร้ายที่มียุงเป็นพาหะได้ง่ายขึ้น
อาจารย์ปรากาช กล่าวว่า การมีส่วนร่วมของคนจำนวนมากคือหัวใจของความสำเร็จในโครงการนี้
เขากล่าวว่ายิ่งคนมีส่วนร่วมในการเก็บข้อมูลมากเท่าใด ก็จะยิ่งดีต่อการ่อสู้กับโรคระบาดที่มียุงเป็นพาหะ และสิ่งที่เขาอยากเห็นคือในแต่ละวันมีคนนับแสนคนทั่วโลกใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนบันทึกเสียงของยุงเเละแอปฯสามารถระบุชนิดของยุงที่เป็นอันตรายในบริเวณต่างๆ
แอปฯ Abuzz จะเปิดให้ดาวน์โหลดได้ฟรีใน 1 ถึง 2 เดือนจากนี้ ผู้ที่ต้องการทราบรายละเอียดสามารถเขาไปที่เว็บไซต์ abuzz.stanford.edu
ในขณะนี้เช่นกัน นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดของอังกฤษ กำลังพัฒนาแอปฯ ที่มีชื่อว่า Mozzwear ที่ทำงานคล้ายกันเพื่อระบุชนิดของยุงที่เป็นพาหะนำโรคมาลาเรีย โดยเฉพาะ