สหรัฐฯ ประกาศชัดในวันพุธว่าจะเดินหน้าภารกิจการบินเหนือทะเลดำใกล้กับยูเครนต่อไป แม้จะเกิดเหตุการณ์โดรนสอดแนมสหรัฐฯ ตกในทะเลดำหลังการเผชิญหน้ากับเครื่องบินรบรัสเซียเมื่อวันอังคาร และทางรัสเซียออกโรงเตือนสหรัฐฯ ให้อยู่ห่าง ๆ น่านฟ้ารัสเซีย
รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ลอยด์ ออสติน กล่าวเมื่อวันพุธระหว่างการประชุมร่วมกับประเทศพันธมิตรเกือบ 50 ประเทศทั่วโลกที่สนับสนุนยูเครนในสงครามที่ดำเนินมากว่า 13 เดือนว่า สหรัฐฯ จะยังคงภารกิจการบินต่อไป และว่า “รัสเซียมีหน้าที่ควบคุมเครื่องบินของตนให้ดำเนินการอย่างปลอดภัยและเป็นมืออาชีพ” พร้อมย้ำว่าโดรน MQ-9 ของสหรัฐฯ ที่ตกในทะเลดำ “ปฏิบัติภารกิจตามปกติ” ในน่านฟ้าสากลเมื่อวันอังคาร เมื่อเครื่องบินรบรัสเซีย “เข้าปะทะในรูปแบบที่เป็นอันตราย ขาดความยั้งคิด และไม่มีความเป็นมืออาชีพ”
เอพีรายงานด้วยว่า รัฐมนตรีออสติน ได้ต่อสายตรงเพื่อหารือประเด็นเรื่องโดรนกับเซอร์เกย์ ชอยกู รัฐมนตรีกลาโหมรัสเซีย ในวันพุธ ซึ่งถือเป็นการหารือโดยตรงครั้งแรกของทั้งสองในรอบ 5 เดือน ซึ่งสะท้อนถึงความรุนแรงของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในทะเลดำเมื่อวันอังคาร เพราะนับตั้งแต่สงครามยูเครนปะทุขึ้น การสื่อสารระหว่างฝั่งกลาโหมสหรัฐฯ และรัสเซียเป็นไปอย่างจำกัด โดยทางการรัสเซียปฏิเสธที่จะรับสายสหรัฐฯ ในช่วงเดือนแรก ๆ ที่สงครามเกิดขึ้น
โดยรมต.ออสติน กล่าวว่า “อย่างที่ได้กล่าวย้ำมาหลายครั้ง นี่เป็นเรื่องสำคัญที่ชาติมหาอำนาจจะต้องเป็นแบบอย่างของความโปร่งใสและมีการสื่อสารระหว่างกัน และสหรัฐฯ จะเดินหน้าการบินและปฏิบัติการในทุกที่ที่กฎหมายระหว่างประเทศอนุญาต”
Your browser doesn’t support HTML5
เมื่อวันอังคารเครื่องบินขับไล่ของกองทัพรัสเซีย Su-27 เข้าสกัดและขับไล่โดรนสอดแนม MQ-9 "Reaper" ของกองทัพสหรัฐฯ จนตกลงไปในทะเลดำ ซึ่งถือเป็นการเผชิญหน้าครั้งแรกระหว่างสองมหาอำนาจ ในช่วงที่สงครามยูเครนดำเนินมาร่วมปี
รัฐบาลวอชิงตันและรัฐบาลมอสโกต่างกล่าวหากันและกันเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ ซึ่งเกิดขึ้นบนน่านฟ้าสากลใกล้กับดินแดนที่รัสเซียอ้างสิทธิ์จากยูเครนและผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียไป ทางรัสเซียอ้างว่าเหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าสหรัฐฯ เข้าร่วมสงครามยูเครนโดยตรง ขณะที่รัฐบาลวอชิงตันเรียกเหตุการณ์ดังกล่าวว่าเป็นการกระทำที่ขาดความยั้งคิดของรัสเซีย
ส่วนประเด็นการเก็บกู้ซากโดรนในทะเลนั้น รัสเซียระบุว่าจะพยายามเก็บกู้ซากโดรนดังกล่าว ขณะที่สหรัฐฯ ระบุว่าอาจไม่สามารถเก็บกู้ได้เลย และเป็นกระบวนการที่ทำให้แน่ใจรัสเซียจะไม่เข้าถึงข้อมูลข่าวกรองจากซากโดรนที่ตกไป
ทางจอห์น เคอร์บี้ โฆษกด้านความมั่นคงประจำทำเนียบขาว ระบุว่าทางการสหรัฐฯ เรียกตัวอนาโตลี อันโตนอฟ เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำสหรัฐฯ เข้าพบเพื่อเตือนว่ามอสโกต้องมีความระมัดระวังกว่านี้ และว่า “อย่าทำแบบนี้อีก”
ขณะที่เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์กล่าวหาสหรัฐฯ ว่าใช้โดรนในการ “เก็บข้อมูลข่าวกรองที่กรุงเคียฟใช้เพื่อการโจมตีกองทัพและดินแดนของเรา” และว่า “ถ้ายกตัวอย่างเช่น มีโดรนรัสเซียปรากฎอยู่ในนิวยอร์กหรือซานฟรานซิสโก กองทัพอากาศสหรัฐฯ และกองทัพเรือสหรัฐฯ จะตอบโต้อย่างไร?” พร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลวอชิงตัน “หยุดก่อกวนใกล้พรมแดนรัสเซียเสียที”
อีกด้านหนึ่งทางยูเครน โอเล็กซีย์ ดานิลอฟ ทวีตข้อความระบุว่าเหตุโดรนตกดังกล่าว แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลมอสโกพร้อมที่จะยกระดับความขัดแย้ง เพื่อดึงประเทศอื่น ๆ ให้เข้าร่วมในสงคราม
ส่วนประเด็นยูเครน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ได้เรียกร้องให้ชาติพันธมิตรเพิ่มความช่วยเหลือกองทัพยูเครนเพิ่มเติมอีก “เรากำลังอยู่ในช่วงเวลาสำคัญในการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของยูเครน” และว่า “เราต้องมอบศักยภาพอันเต็มที่ให้กับยูเครนสำหรับการต่อสู้ที่รออยู่ข้างหน้า”
ที่ผ่านมา สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และนาโต้ ได้ให้คำมั่นสนับสนุนด้านอาวุธและกระสุนให้กับยูเครนในการต่อต้านรัสเซียที่ดำเนินมากว่า 1 ปี
ในวันเดียวกันนี้ ประธานาธิบดียูเครน โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ยินดีต่อการประกาศการสนับสนุนด้านการทหาร ด้านมนุษยธรรม และด้านเศรษฐกิจ มูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์ของเดนมาร์กให้แก่ยูเครน และว่าความช่วยเหลือดังกล่าวคือ “เครื่องรับประกัน” ในการนำพาชัยชนะเหนือผู้รุกรานพร้อมทั้งคืนความสงบสุขให้กับยุโรป
- มีเนื้อหาบางส่วนจากรอยเตอร์และเอพี