ออสเตรเลียตกลงที่จะสั่งซื้อเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์จำนวน 3 ลำจากสหรัฐฯ ภายใต้ข้อตกลง 3 ฝ่ายเป็นระยะเวลาหลายทศวรรษที่มีอังกฤษร่วมด้วย ซึ่งมีจุดประสงค์ที่จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกลุ่มพันธมิตรนี้ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ขณะที่ จีนเดินหน้าขยายอิทธิพลของกองทัพตนอย่างหนักอยู่
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวเมื่อวันจันทร์ว่า การตัดสินใจแบ่งปันเทคโนโลยีด้านนิวเคลียร์ที่มีความอ่อนไหวของสหรัฐฯ กับออสเตรเลียถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ และมีความจำเป็นประการหนึ่ง
ปธน.ไบเดน ระบุว่า “ในเวลาที่เรายืนอยู่ ณ จุดที่มีการเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์ ที่การทำงานอย่างหนักเพื่อยกระดับการป้องปรามและการส่งเสริมเสถียรภาพจะมีผลกระทบต่ออนาคตของสันติภาพในอีกหลายทศวรรษข้างหน้า สหรัฐอเมริกาจะหาหุ้นส่วนที่ดีกว่านี้ไม่ได้ในอินโดแปซิฟิกที่ซึ่งเราจะมีการปลูกฝังรากของอนาคตที่เรามีร่วมกันด้วย” และว่า “ในการสร้างพันธมิตรใหม่นี้ เราจะแสดงให้เห็นอีกครั้งว่า ประชาธิปไตยจะนำมาซึ่งความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองของเราได้อย่างไร และไม่ใช่เฉพาะเราเท่านั้น แต่ยังสำหรับโลกทั้งโลกด้วย”
ภายใต้ข้อตกลงนี้ เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ของอเมริกาและอังกฤษน่าจะเวียนกันแล่นเข้าสู่น่านน้ำออสเตรเลียได้ในปี ค.ศ. 2027 ขณะที่ ออสเตรเลียจะซื้อเรือดำน้ำประเภทนี้จากสหรัฐฯ เป็นจำนวน 3-5 ลำภายในต้นคริสต์ทศวรรษที่ 2030 โดยทั้ง 3 ประเทศจะทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์สำหรับการโจมตีรุ่นใหม่ด้วย ซึ่งมีการประเมินว่า โครงการนี้น่าจะใช้เวลาราว 2 ทศวรรษกว่าจะประสบความสำเร็จ
นายกรัฐมนตรีแอนโทนี อัลบาเนซี แห่งออสเตรเลีย กล่าวว่า ข้อตกลงนี้ที่มีมูลค่าเกือบ 150,000 ล้านดอลลาร์ จะช่วยสร้างงานและกระตุ้นการคิดค้นนวัตกรรมและการวิจัยค้นคว้าอื่น ๆ ได้ต่อไปด้วย
นายกฯ อัลบาเนซี กล่าวว่า “ข้อตกลงกลุ่มความร่วมมือ AUKUS (ที่ประกอบด้วยออสเตรเลีย สหรัฐฯ และอังกฤษ) ที่เรายืนยันที่นี่ ที่เมืองซานดิเอโก เป็นการลงทุนก้อนใหญ่ที่สุดในครั้งเดียวในสรรพกำลังด้านกลาโหมของออสเตรเลีย ในประวัติศาสตร์ของเราทุกคน (ทั้งยัง) เสริมสร้างความมั่นคงแห่งชาติของออสเตรเลียและเสถียรภาพในภูมิภาคของเรา”
ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีริชี ซูแน็ก ประกาศด้วยว่า อังกฤษจะเพิ่มงบใช้จ่ายด้านการทหารของประเทศให้ถึง 2.5% ของจีดีพี เพื่อรับมือกับภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นจากทั่วโลก
นายกฯ ซูแน็ก กล่าวว่า “ในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา ความท้าทายที่เราเผชิญนั้นมีแต่เพิ่มขึ้น (ซึ่งก็คือ) การรุกรานยูเครนโดยผิดกฎหมายของรัสเซีย” และว่า “การอ้างสิทธิ์ของจีนที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ พฤติกรรมที่สั่นคลอนเสถียรภาพของอิหร่านและเกาหลีเหนือ ทั้งหมดเป็นภัยคุกคามที่จะทำให้โลกมีแต่อันตราย ความโกลาหล และความแตกแยก และเมื่อต้องเผชิญกับความเป็นจริงใหม่นี้ สิ่งที่มีความสำคัญมากกว่าที่เคยคือ การที่เราเสริมสร้างความสามารถในการพลิกฟื้นกลับคืนมาของประเทศของเรา”
ทั้งนี้ กรุงปักกิ่งออกมาวิพากษ์วิจารณ์การจัดตั้งความเป็นหุ้นส่วนของ 3 ประเทศนี้และกล่าวหากรุงวอชิงตันว่า “ทำการยั่วยุให้มีการแข่งขันชิงดีชิงเด่นและการเผชิญหน้า”
เหมาหนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวว่า “ความร่วมมือไตรภาคีนี้นำมาซึ่งความเสี่ยงด้านการแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ บ่อนทำลายระบบลดการเผยแพร่(อาวุธนิวเคลียร์)ของนานาชาติ ทำให้การชิงดีชิงเด่นด้านอาวุธรุนแรงขึ้น และส่งผลเสียต่อสันติภาพและเสถียรภาพในเอเชีย-แปซิฟิก” และว่า “มีการตั้งคำถามและคัดค้านกันอย่างกว้างขวางโดยประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคและประชาคมโลกโดยรวม เราเรียกร้องให้สหรัฐฯ อังกฤษและออสเตรเลีย ละทิ้งแนวความคิดยุคสงครามเย็นและการเล่นเกมแบบผู้ชนะจะมีเพียงหนึ่งเดียว (zero-sum game) ให้เกียรติต่อภาระผูกพันระหว่างประเทศโดยสุจริตใจ และทำการใด ๆ ที่จะนำมาซึ่งสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาคให้มากขึ้นกว่านี้”
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์มองว่า ท่าทีรุกรานของจีนในภูมิภาคแปซิฟิกต่างหากที่ทำให้ทั้งสามประเทศต้องหันมาจัดตั้งความร่วมมือนี้
มาร์ค เคนเนดี ผู้อำนวยการของ Wahba Institute for Strategic Competition แห่งศูนย์วิลสัน (Wilson Center) บอกกับ วีโอเอ ว่า “นี่ดูเป็นการตอบโต้การขยายกองทัพอันดุดันอย่างมากของจีน มากกว่าจะเป็นการทำอะไรที่จะยั่วยุจีน”
ส่วน ชาลส์ อีเดล ประธานฝ่ายกิจการออสเตรเลียของ Center for Strategic and International Studies กล่าวกับ วีโอเอ ว่า “มีคำวิพากษ์วิจารณ์ออกมา อย่างที่ควรจะมี เกี่ยวกับข้อตกลงนี้ไปทั่ว เพราะนี่คือวิถีของระบอบประชาธิปไตยในการดำเนินนโยบาย ใช่ไหม?” และว่า “ความปรารถนาทะเยอทะยานนี้ยิ่งใหญ่มากจริง ๆ แต่ก็เป็นการเดิมพันครั้งใหญ่มาก ๆ เช่นกัน”
- ที่มา: วีโอเอ