ออสเตรเลีย ชง “กากกาแฟ” ผสมคอนกรีต ช่วยลดโลกร้อน

แฟ้มภาพ: เมล็ดกาแฟเตรียมบรรจุเพื่อการส่งออกในเมดาน อินโดนีเซีย 25 เม.ย. 2013 (REUTERS/YT Haryono/File Photo)

หลายคนอาจกินกาแฟได้อย่างสบายใจมากขึ้นกว่าเดิม เพราะเราอาจเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศผิดธรรมชาติได้ด้วยเครื่องดื่มใกล้ตัว โดยออสเตรเลียนำกาแฟมาใช้เป็นส่วนผสมของคอนกรีตเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน

การจิบกาแฟยามเช้า อาจช่วยโลกได้มากกว่าที่เราคิด ในประเทศออสเตรเลียนำ “กากกาแฟ” ไปผสมในคอนกรีต (Concrete) ที่มีส่วนของปูนซีเมนต์ (Cement) น้ำ และวัสดุผสม อย่างกรวดหินดินทราย ซึ่งคอนกรีตถูกใช้งานอย่างแพร่หลายในโครงสร้างพื้นฐาน และมีส่วนในการปล่อย “ก๊าซเรือนกระจก” ทั่วโลก ในสัดส่วนราว 8%

ราจีฟ รอยชานด์ หัวหน้านักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Royal Melbourne Institute of Technology (RMIT) อธิบายถึงการนำกากกาแฟไปเสริมความแข็งแกร่งให้กับวัสดุก่อสร้าง เริ่มต้นจะต้องนำวัสดุไปเผาที่อุณหภูมิ 350 องศาเซลเซียสในห้องปลอดออกซิเจน เพื่อเปลี่ยนกากกาแฟให้กลายเป็น “ถ่านชีวภาพ” (Biochar)

รอยชานด์ ชี้ว่าสารที่ได้สามารถนำไปผสมคอนกรีต ในสัดส่วนมากถึง 15% ซึ่งจะช่วยเสริมความแข็งแรงของวัสดุเพิ่มขึ้น 30% หรืออาจกล่าวได้ว่า เราลดปริมาณการใช้ปูนซีเมนต์ได้สูงถึง 10% กระบวนการนี้ถือว่าช่วยลดก๊าซคาร์บอนอันเป็นสาเหตุของโลกร้อน และยังไปช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับวัสดุก่อสร้าง

ในแต่ละปี กรวดทรายปริมาณราว 50,000 ล้านตันถูกขุดจากใต้ดิน เพื่อนำไปใช้ผสมในคอนกรีต องค์การสหประชาชาติ (UN) ชี้ว่ากระบวนการดังกล่าวมักจะทำลายสิ่งแวดล้อม และมีแนวโน้มที่วัสดุเหล่านี้จะขาดแคลนมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ในขั้นตอนการผลิตปูนซีเมนต์ ที่ต้องนำหินปูนและดินเหนียวมาผสมกันที่ความร้อน 1,500 องศาเซลเซียส เป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้การใช้งานคอนกรีตเกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

รอยชานด์ หัวหน้านักวิจัย เผยว่า ปัจจุบันนี้มหาวิทยาลัย RMIT ทำงานร่วมกับบริษัท บิล์ดกรูป (BildGroup) เพื่อก่อตั้งบริษัทผลิตถ่านชีวภาพ รวมถึงได้เจราจากับบริษัท สตาร์บัคส์ (Starbucks) ในการนำกากกาแฟมาใช้งาน

อีกทั้งบริษัท อารัป (Arup) ยักษ์ใหญ่ด้านการก่อสร้าง ให้การสนับสนุนการวิจัยนี้

กากกาแฟถูกผลิตขึ้นปริมาณนับพันล้านตันจากทั่วโลก ที่ผ่านมา “วิธีฝังกลบ” คือการกำจัดกากกาแฟ ซึ่งในกระบวนย่อยสลายจะปล่อยก๊าซมีเทนออกมา

นักวิจัยจาก RMIT ระบุว่า เฉพาะในออสเตรเลีย ผลิตกากกาแฟได้ประมาณ 75,000 ตันต่อปี หากนำไปผลิตถ่านชีวภาพ จะสามารถนำไปใช้ทดแทนทรายในคอนกรีต ได้ราว 675,000 ตัน และยังเป็นวัสดุที่มีความหนาแน่นมากกว่า

ตามข้อมูลของรัฐบาลออสเตรเลีย ชี้ว่าขยะอาหารคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 3% ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ผู้เชี่ยวชาญมองว่า ประมาณ 60 ถึง 70% ของขยะจากอาหาร ที่ถือเป็นขยะอินทรีย์ สามารถกำจัดได้ ด้วยวิธีเปลี่ยนเป็นถ่านชีวภาพแทนการฝังกลบ

นอกจากมหาวิทยาลัย RMIT ที่ริเริ่มการนำกากกาแฟมาใช้เป็นส่วนผสมในการก่อสร้าง ขณะนี้มหาวิทยาลัยทั่วโลกต่างมุ่งศึกษาถ่านชีวภาพและวัสดุชีวภาพอื่น ๆ เพื่อนำมาผสมในคอนกรีต โดยเชื่อว่าวัสดุอินทรีย์ที่ต่างกัน จะนำไปสู่ถ่านชีวภาพที่มีคุณภาพไม่เหมือนกัน

  • ที่มา: รอยเตอร์