รายงานการสำรวจชี้ว่า ผู้ใหญ่วัยหนุ่มสาวชาวอเมริกันอยู่ติดที่มากขึ้นนับตั้งแต่ช่วงเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ แต่ในเวลาที่ย้ายที่อยู่ พวกเขาจะย้ายไปที่เมืองซึ่งต่างจากช่วงก่อนที่เศรษฐกิจจะถดถอยในปีพ.ศ. 2550 - 2552
การสำรวจ American Community Survey ของสำนักงานสำมะโนประชากรสหรัฐฯ ระบุว่า ในช่วงสามปีที่กำลังเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย มีชาวอเมริกันในช่วงอายุ 20 และ 30 ปีจำนวนมากขึ้น มุ่งหน้าสู่เมืองริเวอร์ไซด์ (แคลิฟอร์เนีย) เมืองฟีนิกซ์ เมืองแอตแลนต้า นครฮิวสตัน และเมืองชาร์ลอตต์ (นอร์ธ แคโรไลน่า)
วิลเลียม เฟรย์ นักประชากรศาสตร์จากสถาบัน Brookings Institution กล่าวว่า คนเหล่านั้นย้ายไปตามเมืองดังกล่าวเพื่อไปซื้อบ้านและหางานทำ
แต่สิ่งต่างๆ เปลี่ยนไปหลังช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ กล่าวคือ จากปี พ.ศ. 2550 ถึงปีพ.ศ. 2560 เมืองใหญ่ๆ ของสหรัฐที่มีคนยุคมิลเลเนียลอยู่มากที่สุด ได้แก่เมืองเดนเวอร์ (รัฐโคโลราโด) กรุงวอชิงตัน นครฮิวส์ตัน เมืองออสตินและดัลลัส (รัฐเท็กซัส) และนครซีแอตเทิล (รัฐวอชิงตัน)
วิลเลียม เฟรย์ กล่าวต่อไปว่า คนหนุ่มสาวอาจไม่สามารถหางานที่ต้องการและไม่สามารถซื้อบ้านที่อยากซื้อได้ แต่อย่างน้อยพวกเขาก็ต้องการที่จะอยู่ในที่ซึ่งเป็นที่สำหรับคนหนุ่มสาว มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีความทันสมัยนั่นเอง
โดยรวมแล้วคนยุคมิลเลเนียลของสหรัฐฯ มีอัตราการย้ายที่อยู่ต่ำที่สุด อย่างน้อยนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 ในปีพ.ศ. 2560 อัตราการย้ายถิ่นฐานของคนยุคนี้อยู่ที่ 17% ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำกว่าตอนก่อนเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยเกือบ 23%
Frey คาดหวังว่าอัตราการย้ายถิ่นฐานของคนยุคมิลเลเนียลจะกระเตื้องขึ้น แต่เขาก็ต้องผิดหวังกับตัวเลข เขากล่าวว่าการย้ายถิ่นฐานนั้นดีต่อเศรษฐกิจในแง่ที่ว่าผู้คนสามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปได้ หากพวกเขาย้ายไปยังที่ที่มีการสร้างงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นการย้ายเพื่อไปซื้อบ้าน และเริ่มลงทุนในอนาคตในแง่ของการสร้างความมั่งคั่ง เป็นต้น
Frey มองเห็นสัญญาณว่าคนยุคมิลเลเนียลเริ่มที่จะย้ายไปอยู่ตามชานเมืองและเขตเมืองเล็กๆ เช่นเดียวกับเมืองที่อยู่ในส่วนด้านในของสหรัฐฯ มากกว่าตามชายฝั่งตะวันออกหรือฝั่งตะวันตก
เขากล่าวส่งท้ายว่าในการสำรวจครั้งต่อไป เราคงจะได้เห็นอัตราการย้ายที่อยู่ของคนยุคมิลเลเนียลไปอยู่ตามที่ที่มีศักยภาพเชิงเศรษฐกิจและมีความเจริญรุ่งเรือง มากกว่าไปอยู่ตามเมืองที่ทันสมัย