การศึกษาวิจัยพบว่า ผู้ย้ายถิ่นฐานข้ามชาติที่อพยพไปยังประเทศที่มีรายได้สูง เพื่อไปทำงาน เพื่อการศึกษา หรือไปอยู่กับคนในครอบครัว มีแนวโน้มในการเสียชีวิตก่อนเวลาอันสมควรน้อยกว่าคนที่เกิดในประเทศซึ่งเป็นบ้านใหม่ของพวกเขา
นักวิจัยตรวจสอบข้อมูลจากการศึกษา 96 ฉบับ เกี่ยวกับผู้ย้ายถิ่นฐานข้ามชาติโดยประมาณมากกว่า 15.2 ล้านคนใน 92 ประเทศ จากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า โดยรวมแล้วแรงงานข้ามชาติมีโอกาสเสียชีวิตก่อนเวลาอันควรจากสาเหตุทั้งหมดทั้งมวลน้อยกว่าประชากรทั่วไปในประเทศที่พวกเขาย้ายไปอยู่ราว 30%
Robert Aldridge หัวหน้าการศึกษาวิจัยจากมหาวิทยาลัย University College London ในประเทศอังกฤษ กล่าวว่า ผู้ที่ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ในประเทศร่ำรวยมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคภัยไข้เจ็บที่ร้ายแรงต่างๆ น้อยกว่าเมื่อเทียบกับประชากรทั่วไป
Aldridge กล่าวว่า ข้อมูลของสหประชาชาติระบุว่า ผู้ย้ายถิ่นฐานไปยังประเทศร่ำรวยเหล่านี้ ส่วนใหญ่แล้วย้ายไปทำงานหรือไปเพื่อการศึกษา
นักวิจัยเผยข้อมูลในวารสาร The Lancet ว่าผู้คนราว 258 ล้านคนทั่วโลก อาศัยอยู่นอกประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของตน ซึ่งคิดเป็นอัตราส่วนมากกว่า 3% ของประชากรโลก
สำหรับในประเทศที่มีรายได้สูงหลายประเทศ ประชาชนในประเทศนั้นๆ มองว่าแรงงานข้ามชาติคือภาระสังคมในเรื่องทั่วไป และในเรื่องของทรัพยากรด้านสุขภาพ จึงทำให้มีข้อจำกัดต่างๆ ในการที่แรงงานข้ามชาติเหล่านั้นจะเข้ารับการรักษาในเวลาเจ็บป่วย
แต่จากการวิเคราะห์เมื่อเร็วๆ นี้พบว่า แรงงานข้ามชาติอาจใช้ทรัพยากรด้านสุขภาพน้อยกว่าผู้อยู่อาศัยในถิ่นกำเนิดของตน การเสียชีวิตบางสาเหตุที่พบบ่อยในกลุ่มแรงงานข้ามชาติคือ โรคติดเชื้อ และสาเหตุภายนอก เช่น การฆาตกรรม
กลุ่มคนอพยพย้ายถิ่นฐานมีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตด้วยสาเหตุภายนอก 28% และเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อเช่นวัณโรค ตับอักเสบ และเชื้อเอชไอวีมากกว่าคนที่เกิดในประเทศนั้นๆ ถึงสองเท่า
อย่างไรก็ตาม พวกเขามีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตจากสาเหตุอื่นๆ รวมไปถึงโรคหัวใจ ความผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร ปัญหาต่อมไร้ท่อหรือระบบไหลเวียนเลือด ปัญหาด้านสุขภาพจิต โรคมะเร็งหรือโรคต่างๆ เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจหรือระบบประสาท น้อยกว่าประชากรทั่วไปในประเทศนั้นๆ
นอกจากนี้ ทั้งเพศหญิงและเพศชายดูเหมือนจะมีความได้เปรียบในเรื่องการมีอายุยืนยาวหลังจากที่อพยพย้ายถิ่นฐาน โดยเพศชายมีอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรน้อยกว่าชายที่เกิดในประเทศที่ตนอพยพเข้าไปอาศัยอยู่ 28% ส่วนเพศหญิงมีอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรน้อยกว่าหญิงที่เกิดในประเทศ 25%