จิเซลลา คอลลาโซ ผู้อพยพชาวเปรูที่อยู่ในสหรัฐฯมานานถึง 17 ปี ยืนหยัดที่จะพำนักอยู่ที่โบสถ์ ในเมืองสปริงฟิลด์ รัฐแมสซาชูเซสต์ เพื่อให้รอดพ้นจากการถูกส่งกลับประเทศ ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา เช่นเดียวกับการต่อสู้ของผู้อพยพเข้าสหรัฐฯโดยผิดกฏหมายอีกกว่า 40 ชีวิต ที่เลือกใช้สถานที่ทางศาสนา เพื่อความอยู่รอดใน 28 รัฐทั่วอเมริกา
ตามข้อมูลของ the Church World Service’s Immigration and Refugee Program หรือ CWS พบว่าผู้ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฏหมาย ใช้ศาสนสถานเป็นเขตลี้ภัย เพิ่มขึ้นราว 6 เท่าตัว ภายในเวลา 15 เดือนที่ผ่านมา
เมียร์นา โอรอสโก เจ้าหน้าที่จาก CWS บอกว่า การเปลี่ยนแปลงที่ก้าวกระโดดนี้เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อ 2 ปีก่อน ซึ่ง ณ ตอนนั้น มีผู้ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฏหมายใช้ศาสนสถานในการลี้ภัยเพียง 7 คน แต่ในอีก 15 เดือนต่อมา เพิ่มขึ้นเป็น 42 คน ใน 28 รัฐทั่วอเมริกา ขณะเดียวกัน ศาสนสถานทั่วอเมริกาที่เปิดรับผู้อพยพกลุ่มนี้ก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน จากเดิมที่มีอยู่ราว 400 แห่ง เพิ่มเป็น 1,100 แห่งทั่วประเทศ
ที่ผ่านมา ทาง Immigration and Customs Enforcement หรือ ICE หน่วยงานบังคับใช้กฏหมายตรวจตราพรมแดนและศุลกากรของรัฐบาลกลาง ได้กำหนดให้เขตศาสนสถานในสหรัฐฯ เป็น Sensitive Location หรือ พื้นที่อ่อนไหว เช่นเดียวกับโรงพยาบาลและโรงเรียน ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องใช้ความระมัดระวังหรือหลีกเลี่ยงการจับกุมผู้ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฏหมายในพื้นที่ดังกล่าว
แต่ล่าสุด ทางโฆษกของ ICE จอห์น โมฮาน บอกว่า แม้เจ้าหน้าที่จะหลีกเลี่ยงการจับกุมในบริเวณศาสนสถาน แต่ไม่ได้หมายความว่าการจับกุมในพื้นที่ดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้น
ก่อนหน้านี้ ทางหน่วยงานบังคับใช้กฏหมายตรวจตราพรมแดนและศุลกากรของรัฐบาลกลาง ได้ยุติการยกเว้นพื้นที่ศาลในการเป็น sensitive location มาแล้ว
นอกจากนี้ ไม่ใช่ทุกรัฐในอเมริกาที่จะมีศาสนสถานเป็นพื้นที่พักพิงของผู้ลักลอบเข้าสหรัฐฯโดยผิดกฏหมาย รวมถึงช่องโหว่ของระเบียบการสร้างที่พักอาศัย หรือ housing codes ที่เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบโบสถ์และสถานที่ทางศาสนาอื่นๆ ที่ให้ที่พำนักแก่ผู้ลักลอบเข้าเมืองได้ แต่คุณโอรอสโก เจ้าหน้าที่จาก CWS บอกว่า เจ้าหน้าที่จะดำเนินตรวจค้นได้ก็ต่อเมื่อมีหมายศาลเสียก่อน