“การออกกำลังกายอย่างเข้มข้น” ช่วยหญิงกลางคนห่างไกลความจำเสื่อมได้ถึงร้อยละ 90

Middle age exercise

Your browser doesn’t support HTML5

“การออกกำลังกายอย่างเข้มข้น” ช่วยหญิงกลางคนห่างไกลความจำเสื่อมได้ถึงร้อยละ 90

หากรายงานชิ้นนี้ไม่กระตุ้นต่อมความอยากออกกำลังกาย ก็คงไม่มีแรงจูงใจไหนจะทำได้อีกแล้ว สำหรับผลการศึกษาล่าสุดจากสวีเดน ที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ Neurology เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ระบุว่า ผู้หญิงที่ออกกำลังกายอย่างเข้มข้นในช่วงวัยกลางคน (45 ปีขึ้นไป) จะมีโอกาสเป็นโรคสมองเสื่อมน้อยลงเกือบร้อยละ 90 เมื่อพวกเธออายุมากขึ้น

ทีมวิจัยติดตามข้อมูลด้านสุขภาพของผู้หญิงวัยกลางคนต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 44 ปี แบ่งเป็นกลุ่มที่ออกกำลังกายอย่างเข้มข้น ซึ่งวัดจากการปั่นจักรยานออกกำลังกายด้วยความเร็วสูงได้ต่อเนื่องนาน 6 นาทีขึ้นไป เทียบกับกลุ่มที่ออกกำลังกายน้อยกว่า พบว่า ผู้หญิงที่ออกกำลังกายอย่างเข้มข้น จะลดความเสี่ยงของภาวะความจำเสื่อมได้ร้อยละ 88

ยิ่งไปกว่านั้น ในการวิจัยยังบอกด้วยว่า ผู้หญิงที่ออกกำลังกายอย่างเข้มข้น จะพบสัญญาณของโรคสมองเสื่อมเมื่ออายุ 90 ปีโดยเฉลี่ย ซึ่งช้ากว่าผู้หญิงที่ออกกำลังกายน้อยหรือไม่ออกกำลังกายเลย ถึง 11 ปี

Ingmar Skoog อาจารย์ด้านจิตเวชจากมหาวิทยาลัย Gothenberg และผู้เขียนงานวิจัยชิ้นนี้ บอกว่า แม้จะรู้ดีว่าการออกกำลังกายไม่ได้ช่วยป้องกันโรคความจำเสื่อมโดยตรง แต่ที่สร้างความประหลาดใจ คือ การค้นพบครั้งนี้ชัดเจนและตอกย้ำความสำคัญของการออกกำลังกายที่ให้ประโยชน์อย่างน่าทึ่ง

อย่างไรก็ตาม อาจารย์ Skoog ชี้จุดบกพร่องของการวิจัยครั้งนี้ คือ ตัวอย่างการวิจัยมีหญิงวัยกลางคนเพียง 191 คน และทั้งหมดเป็นชาวสวีเดน ซึ่งนั่นแปลว่า อาจให้ผลที่แตกต่างในชนชาติและช่วงอายุในกลุ่มตัวอย่างได้

ขณะเดียวกัน หนึ่งในประเภทของโรคความจำเสื่อมที่พบมากที่สุด และมีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงที่สุดนั้น ก็คือ อัลไซเมอร์ ซึ่งจะเริ่มขึ้นประมาณ 15-20 ปี ก่อนจะส่งสัญญาณของอาการออกมา จึงเป็นข้อดีที่ว่า หากเริ่มต้นการออกกำลังกายตั้งแต่เนิ่นอาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคได้ แต่ต้องทำควบคู่ไปกับการปรับพฤติกรรมเสี่ยง เช่น งดสูบบุหรี่ พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารให้มีประโยชน์ ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงอัลไซเมอร์และโรคร้ายอื่นๆได้เช่นกัน

Middle Aged Exercise

ด้าน David Knopman จากสถาบันวิจัยโรคอัลไซเมอร์จากสหรัฐฯ เห็นตรงกันว่า การดูแลสุขภาพถึงจะช้าแต่ดีกว่าไม่เริ่มต้นอะไรเลย เพียงแต่การวิจัยนี้ต้องการบอกว่าหากเริ่มตั้งแต่วัยกลางคน อาจให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าเริ่มต้นในวัยเกษียณ หรือถ้าเริ่มได้ตั้งแต่วัยหนุ่มสาวก็จะยิ่งดี

เช่นเดียวกับที่ Keith Fargo แห่งสมาคมอัลไซเมอร์ของสหรัฐฯ บอกว่า แม้การวิจัยครั้งนี้ไม่ได้ลงรายละเอียดว่าควรออกกำลังกายประเภทไหน และมากเท่าไหร่ แต่การวิจัยได้ชี้ชัดว่า หากไม่อยากเป็นโรคความจำเสื่อมตอนอายุ 80 ก็ควรเริ่มออกกำลังกายกันตั้งแต่วันนี้ ไม่จำเป็นว่าจะต้องไปวิ่งมาราธอนหรือเล่นไตรกีฬา เพียงแค่ออกกำลังกายสม่ำเสมอให้หัวใจเต้นแรงสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงสมอง

แม้การออกกำลังกายอาจไม่ได้ช่วยให้อายุยืนขึ้น แต่ก็จะช่วยให้คุณใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพมากขึ้น