Your browser doesn’t support HTML5
ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าเมื่อคนเราอายุมากขึ้น มักจะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เเม้ว่าจะรับประทานน้อยลงก็ตาม
Jay Chung นักวิทยาต่อมไร้ท่อกล่าวว่า ปริมาณน้ำหนักโดยเฉลี่ยที่พิ่มขึ้นระหว่างอายุ 20 ปีถึง 50 ปี อยู่ที่ราว 13 กิโลกรัม
Chung เป็นหัวหน้าการวิจัยเกี่ยวกับโรคอ้วนกับการสูงวัย ที่ศูนย์หัวใจ ปอดและเลือดเเห่งชาติ ที่สถาบันสุขภาพเเห่งชาติสหรัฐฯ ใกล้กับกรุงวอชิงตัน เขากล่าวว่า "คนทั่วไปมักมองว่าการไม่ออกกำลังกาย วิถีชีวิตและการขาดความมุ่งมั่นและวินัยในตัวเอง เป็นปัจจัยที่ทำให้คนวัยกลางคนมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น"
"เเต่ผลการวิจัยของทีมงานพบว่า มีกระบวนการทางชีววิทยาที่เกี่ยวข้องกับเอนไซม์ที่เรียกว่า DNA-PK มีบทบาททำให้คนที่อายุสูงขึ้น มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น"
Chung และทีมนักวิจัยพบว่า เอนไซม์ DNA-PK จะทำงานมากขึ้นในคนที่อายุมากขึ้น เขากล่าวว่ากระบวนการนี้เหมือนกับการพยายามเร่งความเร็วของรถยนต์ แต่เท้าข้างหนึ่งเหยียบเบรคเอาไว้
เอนไซม์ตัวนี้ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้ร่างกายปลดปล่อยไขมันออกมาจากหน้าท้อง และป้องกันไม่ให้ไขมันถูกเผาผลาญโดยเนื้อเยื่ออย่างกล้ามเนื้อโครงร่างหรือกล้ามเนื้อลาย
Chung หัวหน้าทีมนักวิจัยอธิบายว่า เอนไซม์ DNA-PK ที่ทำงานเกินระดับปกติ เป็นสาเหตุให้คนเราสูญเสียโครงสร้างเล็กๆ ในเซลล์ที่เรียกว่า ไมโทคอนเดรีย (mytochondria) ไปทีละน้อยอย่างต่อเนื่อง เซลล์ไมโทคอนเดรียทำหน้าที่เหมือนโรงงานผลิตพลังงานของร่างกายเเละเผาผลาญไขมันไปด้วยในขณะเดียวกัน
ในรายงานที่ตีพิมพ์ในวารสาร Cell Metabolism ไปเมื่อเร็วๆ นี้ Chung และทีมนักวิจัยรายงานเกี่ยวกับการทดสอบสารชนิดหนึ่ง ที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของเอนไซม์ DNA-PK ในหนูทดลอง
ในการทดลอง ทีมนักวิจัยให้หนูทดลองอายุมากกินอาหารที่มีไขมันสูง ครึ่งหนึ่งของหนูทดลองได้รับสารควบคุมการทำงานของเอนไซม์ DNA-PK ในขณะที่หนูทดลองอีกครึ่งหนึ่งไม่ได้รับสารดังกล่าว
Chung พบว่าหนูทดลองที่ได้รับสารควบคุมเอนไซม์มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าหนูทดลองกลุ่มที่ไม่ได้กินสารชนิดนี้
Chung หัวหน้าทีมนักวิจัยกล่าวว่า หนูทดลองกลุ่มที่ได้รับสารควมคุมการทำงานของเอนไซม์ DNA-PK น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าหนูกลุ่มที่ไม่ได้รับยาราว 40 เปอร์เซ็นต์และยังไม่เสี่ยงต่อโรคเบาหวานประเภทที่สอง สามารถวิ่งบนเครื่องวิ่งได้นานกว่าหนูกลุ่มควบคุม
นอกเหนือจากการลดความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานเเล้ว Chung กล่าวว่าสารควบคุมการทำงานของเอนไซม์ DNA-PK ยังมีศักยภาพในการช่วยลดอัตราการเกิดโรคหัวใจและโรคอื่นๆ ที่มักเกิดกับคนที่สูงวัย
เขากล่าวว่าสารควบคุมเอนไซม์นี้ไม่ได้ผลในการช่วยลดโอกาสเสี่ยงต่อเบาหวานในคนอายุน้อยกว่าที่เป็นโรคอ้วนเนื่องมาจากนิสัยการรับประทานที่ไม่ดี ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับสาเหตุที่เกิดจากการลดลงของไมโทคอนเดรีย
Chung กล่าวว่า จำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยในสัตว์ทดลองต่อไปก่อนที่จะสามารถนำสารควบคุมการทำงานของเอนไซม์ DNA-PK ไปทดลองกับคน และคงต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่ายาตัวนี้จะได้รับรับรองให้ใช้ในงานบำบัดได้จริง
(รายงานโดย Jessica Berman / เรียบเรียงโดย ทักษิณา ข่ายแก้ว)