คนที่เป็นโรคเบาหวานส่วนใหญ่จะต้องควบคุมระดับน้ำตาลในกระเเสเลือดด้วยการฉีดสารอินซูลินเพื่อลดระดับกลูโคส
แต่ผลการศึกษาชิ้นล่าสุดพบว่า "ความรู้สึกอับอายเพราะอ้วน" ทำให้คนป่วยพยายามปกปิดอาการป่วยของตนส่งผลให้เกิดความเสี่ยงในระยะยาวต่อสุขภาพ
Max Pemberton นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญโรคบกพร่องด้านการกิน กล่าวว่า "หากคนที่เป็นเบาหวานประเภทที่สองออกไปทานข้าวนอกบ้าน ก็จะต้องนำอินซูลินเทียมติดตัวไปด้วย แต่คนป่วยอาจจะไม่ยอมฉีดอินซูลินในที่สาธารณะเพราะไม่สะดวกใจ"
การงดฉีดอินซูลินไปหนึ่งเข็มส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ซึ่งเเม้ว่าในระยะสั้นอาจจะไม่มีผลกระทบอะไรมากมาย เเต่ในระยะยาว ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงเกินไปจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อร่างกายของผู้ป่วย เช่น อาจทำให้หัวใจวาย อาการเส้นเลือดในสมองแตก ตาบอด
และเเม้เเต่การสูญเสียอวัยวะเพราะต้องผ่าตัดทิ้ง
ส่วนภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำก็เป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรีบรักษา ผู้ป่วยที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำจะมีอาการหัวใจเต้นเร็วมาก สายตาพร่ามัว เป็นลมและอาจเสียชีวิตได้
Howard Cox ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 2 เมื่อ 20 ปีที่เเล้วตอนอายุ 45 ปี และเขาได้ใช้อินซูลินเเบบฉีดมาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เขาบอกว่า "บางครั้ง ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูง ดีกว่าระดับน้ำตาลในเลือดที่ต่ำ"
และว่าเวลาไปตีกอล์ฟ เขาจะไม่อยากให้มีอินซูลินในร่างกายมากเกินไปเเละจงใจปล่อยให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นเพื่อจะได้ตีกอล์ฟไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้สึกเพลีย
ในขณะที่คนป่วยเบาหวานประเภทสองไม่จำเป็นต้องเป็นโรคอ้วนเสมอไป ผู้ป่วยเบาหวานประเภทนี้ส่วนใหญ่เป็นคนที่น้ำหนักตัวเกิน
เเละในช่วงเทศกาลต่างๆ สื่อโฆษณามักเสนอข้อมูลที่ขัดเเย้งกันในเรื่องของอาหารและน้ำหนักตัว
นักจิตวิทยา Max Pemberton กล่าวว่า "ในช่วงเทศกาลต่างๆ จะมีการโฆษณาอาหารที่มีแคลอรี่สูงและไม่ดีต่อสุขภาพ โดยบอกกับผู้บริโภคว่าการกินอาหารเหล่านี้เป็นเหมือนการให้รางวัลเเก่ตัวเอง ในขณะเดียวกัน สื่อโฆษณาเหล่านี้ กลับเสนอภาพของคนที่รูปร่างผอมบาง สร้างความคิดว่าเป็นรูปร่างในอุดมคติ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ในชีวิตจริง"
ผู้เชี่ยวชาญด้านการกินบกพร่อง กล่าวว่า คนป่วยเบาหวานประเภทที่สองทั่วไปยังสับสนเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เกิดจากไม่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
(รายงานโดย Faith Lapidus / ทักษิณา ข่ายแก้ว )