Your browser doesn’t support HTML5
ปัจจุบัน สหรัฐฯ มีนโยบายที่บรรดานักวิจารณ์เรียกว่า “การย้ายถิ่นระบบห่วงโซ่” หรือ chain immigration เเต่คนที่เห็นด้วยเรียกว่า “การย้ายถิ่นระบบครอบครัว” หรือ family-based immigration
ระบบคนเข้าเมืองของสหรัฐฯ ขึ้นอยู่กับระบบสนับสนุนหรือ sponsorship ที่ผู้ถือสัญชาติอเมริกันเเละผู้มีสิทธิ์อาศัยอยู่ถาวรอย่างถูกกฏหมาย หรือผู้ถือใบเขียว สามารถสนับสนุนให้ญาติของตนจากประเทศบ้านเกิด ย้ายเข้ามาอาศัยในสหรัฐฯ ได้
คู่สมรสเเละบุตรที่ยังอายุไม่ครบวัยเบญจเพศตามกฏหมาย มีสิทธิ์ในการสมัครในฐานะสมาชิกครอบครัวที่ใกล้ชิด เเละไม่จำเป็นต้องรอให้ได้หมายเลขวีซ่าเสียก่อน และสำหรับสมาชิกครอบครัวในกลุ่มนี้ ไม่มีการจำกัดจำนวนโควต้าว่าได้กี่คน โดยผู้ถือสัญชาติเพียงเเค่ยื่นใบสมัครเพื่อร้องขอเท่านั้น
เเต่สำหรับสมาชิกครอบครัวในฐานะพี่ชายหรือน้องชาย พี่สาวหรือน้องสาว เเละบุตรที่โตเป็นผู้ใหญ่เเล้ว ขั้นตอนการพิจารณาอาจจะนานกว่าเเละยากมากขึ้น
Naomi Tsu รองประธานด้านกฏหมายแห่ง Southern Poverty Law Center กล่าวว่า การขอวีซ่าย้ายมาอยู่สหรัฐฯ ให้กับพี่น้อง เป็นเรื่องยากมาก เพราะถือว่าเป็นสมาชิกครอบครัวอันดับท้ายๆ เเละจะยากขึ้นไปอีกหากเป็นประชาชนจากประเทศที่มีคนย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยูในสหรัฐฯ เป็นจำนวนมากเเล้ว
Stephen Lee อาจารย์ด้านกฏหมายคนเข้าเมืองเเละการจัดการ ที่มหาวิทยาลัยเเคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเออร์ไวน์ กล่าวกับรายการวิทยุเอ็นพีอาร์ว่า มีหลายกรณีที่ญาติอาจถูกตัดสิทธิ์ เขายกตัวอย่างว่า หากผู้สมัครเป็นผู้ก่อการร้าย เเม้ว่าจะเป็นคู่สมรสของผู้ถือสัญชาติ ก็ไม่มีสิทธิ์ย้ายเข้ามาอยู่ในสหรัฐฯ
ส่วนการขอใบเขียวผ่านเเต้มคะเเนนตามคุณสมบัติด้านต่างๆ ของผู้สมัคร หรือที่เรียกว่า merit-based immigration เป็นระบบที่ให้คะเเนน โดยขึ้นอยู่กับหน้าที่การงานที่ได้รับค่าตอบเเทนสูง ความสำเร็จที่ผ่านมาในอดีต ความสามารถทางภาษาอังกฤษ เเละระดับการศึกษา คุณสมบัติทั้งหมดนี้ถูกนำไปพิจารณาร่วมกันในขั้นตอนพิจารณาใบสมัครขอกรีนการ์ด
Tsu รองประธานด้านกฏหมายแห่ง Southern Poverty Law Center กล่าวว่าระบบนี้ให้คะเเนนแก่คุณสมบัติด้านต่างๆ ได่แก่ อายุ เงินเดือนที่จะสามารถทำได้ เเละจำนวนเงินที่ผู้สมัครจะลงทุนในเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เเละยิ่งได้คะเเนนสูงมากเท่าใด โอกาสผ่านการพิจารณาให้เข้ามาอยู่ในสหรัฐฯก็จะสูงตามไปด้วย
ระบบการออกใบเขียวเเก่คนย้ายถิ่นตามคุณสมบัตินี้ คล้ายกับระบบ merit-based immigration ที่ใช้ในแคนาดากับออสเตรเลีย
กลุ่มผู้สนับสนุนระบบการออกกรีนการ์ดแก่คนย้ายถิ่นเเบบ merit-based immigration กล่าวว่า ระบบการให้กรีนการ์ดของสหรัฐฯ ในปัจจุบัน ทำให้ค่าตอบเเทนเเรงงานลดลง เเละไม่ส่งเสริมการหลอมรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอเมริกัน พวกเขาชี้ว่า ระบบเข้าเมืองเเบบที่ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติจะช่วยลดอัตราการย้ายถิ่นลง ช่วยสร้างความมั่นใจได้ว่าผู้ย้ายถิ่นเข้ามาในสหรัฐฯ มีคุณสมบัติสูง เเละมีความเป็นไปได้น้อยที่จะพึ่งพาความช่วยเหลือจากรัฐบาล
ประธานาธิบดีทรัมป์ กล่าวเมื่อเดือนสิงหาคมว่า เป็นเวลานานหลายสิบปีเเล้วที่สหรัฐฯ ใช้ระบบการออกกรีนการ์ดที่ให้สิทธิ์แก่ผู้สมัครที่ขาดคุณสมบัติด้านการศึกษาเเละความสามารถในหน้าที่การงาน เเละเป็นคนเข้าเมืองที่รายได้น้อยเป็นส่วนใหญ่ ผู้นำสหรัฐฯ ประกาศความสนับสนุนของเขาต่อร่างกฏหมายปฏิรูประบบคนเข้าเมืองของสหรัฐฯ เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจให้เเข็งเเรงขึ้น
ร่างกฏหมาย RAISE Act นี้ เสนอโดยวุฒิสมาชิกสองคนคือ David Perdue กับ Tom Cotton เพื่อมุ่งตัดลดจำนวนคนเข้าเมืองตามกฏหมายลงจาก 1 ล้านคนไปเป็น 5 เเสนคนต่อปี ส่วนหนึ่งจากการปรับไปใช้ระบบให้คะเเนนตามคุณสมบัติของผู้สมัครเเทน
เเต่บรรดาผู้ไม่เห็นด้วยกับระบบการออกวีซ่าย้ายถิ่นเเบบใหม่นี้ ชี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังต้องการเเรงงานด้อยฝีมืออยู่ เเละระบบการเข้าเมืองเเบบใหม่ที่ให้ความสำคัญเเก่คุณสมบัติของผู้สมัคร จะกระทบต่ออุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งเเรงงานกลุ่มนี้
นอกจากนี้ พวกเขาระบุว่า ระบบใหม่จะสร้างค่าใช้จ่ายมากขึ้นเเก่รัฐบาลสหรัฐฯ เพราะรัฐบาลต้องทบทวนใบสมัครเเละจ่ายค่าโยกย้ายเเก่ผู้ได้รับกรีนการ์ด ซึ่งในปัจจุบัน เป็นค่าใช้จ่ายที่รับผิดชอบโดยครอบครัวที่สนับสนุนผู้ย้ายถิ่น
ผู้ไม่เห็นด้วยกับระบบการออกกรีนการ์ดเเบบให้เเต้มคะเเนนตามคุณสมบัติ ยังบอกด้วยว่าระบบใหม่นี้ขาดความเป็นอเมริกัน
นาง Nancy Pelosi ผู้นำเสียงส่วนน้อยในสภาผู้เเทนราษฎรสหรัฐฯ จากพรรคเดโมเครต กล่าวว่า ข้อเสนอให้ปฏิรูประบบการเข้าเมืองเเบบใหม่นี้ ไม่ให้ความสำคัญเเก่ความเป็นครอบครัว ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของความเชื่อของคนอเมริกัน ซึ่งช่วยรักษาความเป็นอเมริกันชนเอาไว้
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)