“สิทธิและความเคารพ” หัวใจการเคลื่อนไหวในวันแรงงานสากล

Members of the Korean Confederation of Trade Unions hold up their banners during a May Day rally in Seoul, South Korea, Wednesday, May 1, 2019. Thousands are marking May Day by marching through Asia's capitals and demanding better working conditions and expanding labor rights.

การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องค่าแรงที่เพิ่มขึ้น สภาพการทำงานที่ดีขึ้น รวมทั้งการยุติการเลือกปฏิบัติกับแรงงานชั่วคราวหรือแรงงานต่างชาติ ยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนของการเดินขบวนในวันแรงงานสากล หรือที่เรียกกันว่า May Day ทั่วทุกมุมโลกในปีนี้

เริ่มที่ฝรั่งเศส ที่เปิดให้มีการเดินขบวน โดยมีเจ้าหน้าที่ 7,400 นายคอยดูแลความเรียบร้อย แต่ตำรวจปราบจลาจลต้องใช้แก็สน้ำตาเข้าสลายการชุมนุมในวันแรงงาน เมื่อผู้ประท้วงวันแรงงานผสมกับกลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองและผู้ประท้วงต่อต้านตำรวจ เริ่มขว้างปาก้อนหินและทุบทำลายรถยนต์ในพื้นที่ประท้วง โดยจับกุมผู้ประท้วงได้ 165 คนในวันเดียว

ส่วนที่กรีซ การเดินขบวนวันแรงงานกระทบการจราจรทุกเส้นทางในกรุงเอเธนส์เมื่อวันพุธ ขณะที่แรงงานในสเปน ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อกดดันให้รัฐบาลชุดใหม่ของประเทศผลักดันเศรษฐกิจและการปฏิรูปการคลังของประเทศ

ข้ามมาที่รัสเซีย ชาวรัสเซียราว 100,000 คน เดินขบวนวันแรงงานกันทั่วประเทศ มีรายงานการจับกุมผู้ประท้วงกว่า 100 คนในหลายพื้นที่ทั่วประเทศที่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองสนับสนุนอดีตผู้นำฝ่ายค้าน

ไปที่เอเชียกันบ้าง แรงงานเกาหลีใต้ สวมผ้าคาดศีรษะและชูกำปั้นกันที่กรุงโซลเมืองหลวง เรียกร้องให้ยกระดับสภาพแวดล้อมการทำงาน และขอให้มีการปฏิบัติกับแรงงานชั่วคราวอย่างเท่าเทียม และที่บังคลาเทศ แรงงานหลายร้อยคน เคลื่อนไหวในกรุงธากา เพื่อขอให้มีวันหยุดลาคลอด 6 เดือน และมีมาตรการป้องกันการคุกคามหรือความรุนแรงทางเพศในที่ทำงาน ส่วนศรีลังกายกเลิกการเดินขบวนเนื่องจากกังวลเรื่องความปลอดภัย หลังเหตุโจมตีวันอีสเตอร์ ที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 253 คน

ทั้งนี้ การเดินขบวนวันแรงงานในอดีต เริ่มต้นจากกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิแรงงานในสหรัฐฯ ช่วงปีคริสตทศวรรษที่ 1880 ก่อนจะกลายเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อแรงงานทั่วโลก ที่แรงงานในภาคอุตสาหกรรมได้รับค่าแรงต่ำ ระบบป้องกันความปลอดภัยให้แรงงานน้อย และแรงงานไม่มีสิทธิ์มีเสียงกับนายจ้างมากพอ แต่ในปัจจุบัน การเดินขบวนในวันแรงงานสากล มักแฝงมาด้วยมุมมองทางเศรษฐกิจและการเมืองในแต่ละประเทศ