Your browser doesn’t support HTML5
การศึกษาที่มีขึ้นก่อนหน้านี้บ่งชี้ว่า การแต่งงานเป็นผลดีต่อสุขภาพของคู่สมรส เช่น คู่แต่งงานมีโอกาสรอดชีวิตจากปัญหาหัวใจวายได้มากกว่า และมักอยู่ในโรงพยาบาลน้อยกว่าคนที่ไม่แต่งงาน
ส่วนผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ก็ระบุว่า คู่แต่งงานมักมีอายุยืนยาวกว่า มีปัญหาหัวใจวายและเป็นโรคซึมเศร้าน้อยกว่า และมีโอกาสรอดชีวิตจากการผ่าตัดใหญ่มากกว่าเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ความเชื่อเดิมๆ นี้ถูกท้าทาย เมื่อนักวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐเนวาด้า และมหาวิทยาลัยแห่งรัฐมิชิแกน ของสหรัฐฯ ได้ข้อสรุปที่ต่างไป เพราะในครั้งนี้นักวิจัยต้องการหาคำตอบว่า ความสัมพันธ์ที่มีความขัดแย้ง เช่น ในเรื่องการเลี้ยงลูก เรื่องเงินทอง เรื่องญาติพี่น้อง รวมทั้งเรื่องการใช้เวลาทำกิจกรรมต่างๆ นั้น สร้างความเครียดต่อสุขภาพหรือไม่
ซึ่งคำตอบก็คือ เรื่องนี้มีผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อฝ่ายชาย!
นักวิจัยพบว่า ความสัมพันธ์ในชีวิตแต่งงานที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง ส่งผลเสียต่อสุขภาพในหลายด้าน นับตั้งแต่สร้างภาวะอักเสบของร่างกายหรือ inflammation เปลี่ยนแปลงสภาพความอยากอาหาร เพิ่มระดับฮอร์โมนความเครียด และมีผลต่อการทำงานของหัวใจ รวมทั้งระบบภูมิต้านทานของร่างกายด้วย
โดยนักวิจัยของสหรัฐฯ พบว่า คุณภาพของความสัมพันธ์ ความสนับสนุนที่คู่สมรสให้ต่อกัน และความเข้าใจรวมทั้งการผ่อนสั้นผ่อนยาว ส่งผลในทางบวกหรือทางลบต่อสุขภาพได้ และย้ำว่า สถานภาพการสมรสนั้นไม่ได้ทำให้คนเรามีความสุขเสมอไป แต่คุณภาพความสัมพันธ์ในชีวิตสมรสต่างหากที่มีผลในเรื่องนี้
นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า การสมรสที่ดีนั้นไม่ได้หมายถึงต้องปราศจากความขัดแย้งหรือความเห็นต่างเสียเลย แต่ที่สำคัญกว่าคือคู่สมรสจัดการกับปัญหาความขัดแย้งอย่างไร
นักวิจัยบอกว่า ความขัดแย้งในชีวิตสมรสนั้นจะเป็นอันตรายหากคู่สมรสมีท่าทีที่เป็นปฏิปักษ์ หรือพยายามแก้ตัวหรือกลับไปรื้อฟื้นเรื่องเก่าๆ โดยไม่มีข้อยุติของปัญหา ซึ่งก็จะสร้างผลเสียต่อสุขภาพกายสุขภาพใจของคู่สมรสได้อย่างแน่นอน
นักวิจัยให้คำแนะนำเรื่องการจัดการความสัมพันธ์ในชีวิตสมรสว่า อย่าพยายามนับคะแนนว่าใครแพ้ชนะกี่ครั้ง เพราะความสัมพันธ์ที่ดีนั้นเป็นเรื่องของ win-win
นอกจากนั้น เราควรเรียนรู้ที่จะยอมรับญาติพี่น้องของอีกฝ่ายหนึ่ง รวมทั้งพยายามใช้อารมณ์ขันและการสัมผัสจับต้อง ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นในทางเพศเสมอไป อย่างเช่น การจับมือ และเรียนรู้ที่จะมีความเห็นขัดแย้งแบบเปิดกว้างโดยไม่กลัวว่าจะเป็นฝ่ายแพ้
เพราะหัวใจสำคัญของชีวิตสมรสที่มีความสุขและเป็นผลดีต่อสุขภาพ คือความสนับสนุนที่ต่างฝ่ายมีให้กัน ทั้งในเรื่องการเงินการทำงาน ความคิด ร่างกาย และจิตใจ รวมทั้งการสื่อสารแบบเปิดกว้าง การไม่มุ่งเอาชนะ และไม่กลับไปรื้อฟื้นซ้ำๆ ย้ำเรื่องเดิมๆ