Your browser doesn’t support HTML5
การศึกษาครั้งใหม่แสดงให้เห็นว่าคลื่นความร้อนสามารถทำให้ปลาและสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในมหาสมุทรของโลกต้องเดินทางไปไกลหลายพันกิโลเมตรเพื่อค้นหาแหล่งน้ำทะเลที่เย็นกว่า
นักวิทยาศาสตร์จากสำนักงานบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ NOAA มีรายงานเกี่ยวกับการศึกษาฉบับนี้ซึ่งตีพิมพ์อยู่ในวารสาร Nature เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม การศึกษาวิจัยดังกล่าวอาศัยวิธีการใหม่ในการวัดคลื่นความร้อน ซึ่งเรียกว่า "thermal displacement" หรือ "การเคลื่อนย้ายถิ่นฐานเนื่องจากความร้อน"
NOAA ตั้งข้อสังเกตว่า การวิจัยครั้งก่อนหน้านี้มุ่งศึกษาว่าอากาศร้อนจะทำให้อุณหภูมิพื้นผิวมหาสมุทรเพิ่มขึ้นได้อย่างไรเมื่อเวลาล่วงเลยไป ทั้งนี้คลื่นความร้อนสามารถทำให้สภาพแวดล้อมของมหาสมุทรเปลี่ยนแปลง คร่าชีวิตนกทะเลจำนวนมาก และยังส่งผลกระทบต่อปะการังและสิ่งมีชีวิตในทะเลอื่น ๆ อีกด้วย
การตรวจวัดการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานเนื่องจากความร้อนนั้นจะประเมินว่า ปลา เต่า วาฬ และสัตว์ที่สามารถเคลื่อนที่ได้ชนิดอื่น ๆ ต้องเดินทางไปไกลแค่ไหนเพื่อหาพื้นผิวมหาสมุทรที่มีอุณหภูมิเย็นกว่า โดยการประเมินดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับอัตราอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงทั่วพื้นผิวมหาสมุทร
Michael Jacox นักวิทยาศาสตร์ด้านการวิจัยที่ NOAA Southwest Fisheries Science Center ในแคลิฟอร์เนีย เรียกการตรวจวัดการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานเนื่องจากความร้อนนี้ว่าเป็นวิธีการใหม่ที่มีประสิทธิภาพในการศึกษาคลื่นความร้อนในมหาสมุทร เพราะเมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลง สิ่งมีชีวิตหลายชนิดก็จะย้ายถิ่นฐานไป และว่า การวิจัยนี้ช่วยให้เราได้เข้าใจและสามารถวัดระดับความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้สิ่งมีชีวิตในทะเลเกิดปฏิกิริยาตอบสนองได้
คลื่นความร้อนนั้นทำให้ปัญหาที่มหาสมุทรของโลกกำลังเผชิญอยู่แล้วจากภาวะโลกร้อนในระยะยาวซึ่งเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยิ่งรุนแรงขึ้นไปกว่าเดิม
นักวิทยาศาสตร์ได้ตรวจสอบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคลื่นความร้อนในมหาสมุทรตั้งแต่ปี ค.ศ. 1982 ถึง 2019 เพื่อดูการเคลื่อนย้ายของสิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ ในช่วงเหตุการณ์เหล่านี้
การศึกษาพบว่า ในบางแห่ง แหล่งน้ำเย็นจะอยู่ไม่ไกลจากทะเลที่อุ่นกว่า เช่นในบริเวณที่ส่วนต่างๆ ของมหาสมุทรมาบรรจบกัน แต่ในพื้นที่เขตร้อนซึ่งมักจะมีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิเพียงเล็กน้อยสัตว์ทะเลบางชนิดจะต้องเดินทางไกลกว่า 2,000 กิโลเมตรเพื่อค้นหาแหล่งน้ำที่เย็นกว่า
Jacox กล่าวอีกว่าการเคลื่อนย้ายของสิ่งมีชีวิตในทะเลอย่างรวดเร็วนั้นอาจส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลหลายชนิดรวมทั้งมนุษย์ด้วยเช่นกัน
บรรดาสัตว์น้ำที่เคลื่อนที่มากที่สุดบางชนิด เช่น ปลา วาฬ และเต่า ล้วนมีคุณค่าอย่างยิ่งต่อมนุษย์ ซึ่ง Jacox กล่าวเสริมว่าการประมงและการท่องเที่ยวอาจได้รับผลกระทบ และสิ่งมีชีวิตที่ถูกคุกคามก็อาจต้องเผชิญกับการพลัดถิ่นอีกด้วย
Michael Alexander จากห้องทดลองวิทยาศาสตร์กายภาพของ NOAA หัวหน้าทีมวิจัยนี้กล่าวว่าการศึกษานี้อาจทำให้เราทราบว่าระบบนิเวศอาจเปลี่ยนแปลงไปในอนาคตได้อย่างไร ตัวอย่างเช่นจะช่วยทำนายได้ว่าชาวประมงจะต้องเดินทางไปไกลแค่ไหนถึงจะสามารถจับปลาได้ เป็นต้น