“ข้าวเหนียวมะม่วง” ถือเป็นของหวานไทยที่มาแรงที่สุดในเวลานี้ หลัง “มิลลิ” ดนุภา คณาธีรกุล แร็ปเปอร์สาวชาวไทย นำเสนอของหวานจานเด็ดจากไทยนี้บนเวทีโคเชลล่าเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ตอกย้ำความนิยมของข้าวเหนียวมะม่วงที่มีมายาวนานในร้านอาหารไทยในสหรัฐฯ
วีโอเอไทยชวนติดตามว่า ร้านอาหารไทยในสหรัฐฯ รักษาความ "สุดปัง" ของข้าวเหนียวมะม่วงไทยในต่างแดนมาทุกยุคได้อย่างไร
“Good mango cannot find in Makro, listen” (ฟังนะ หามะม่วงดีๆ ในแมคโครไม่ได้หรอก)
“Who wants mango and rice that is sticky” (ใครอยากได้มะม่วงและข้าวที่เหนียวบ้าง)
“my home grows this sweet in our front yard” (บ้านฉันปลูกผลไม้หวานนี่ไว้ที่สวนหน้าบ้าน)
นี่คือตัวอย่างเนื้อเพลงที่แร็ปเปอร์สาวชาวไทยวัย 19 ปี ฝากไว้บนเวทีเทศกาลดนตรีระดับโลกผ่านเนื้อเพลงสองภาษาที่ “สะกิด” คตินิยมแบบไทยๆ ตัวเธอยังนำเสนอเมนูของหวานนี้ด้วยการรับประทานข้าวเหนียวมะม่วงบนเวที และอุดหนุนข้าวเหนียวมะม่วงที่ร้านขนมหวานไทยในไทยทาวน์ นครลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งถือเป็นย่านชุมชนไทยที่ใหญ่ที่สุด
กระแส “ข้าวเหนียวมะม่วง” นี้นอกจากจะกระตุ้นยอดขายในไทยและทำให้หน่วยงานไทยต่างๆ ออกมาแสดงถึง “ความตระหนักรู้” ต่อของหวานจานนี้แล้ว ยังส่งผลต่อยอดขายมะม่วงของบริษัทนำเข้าผลไม้ วิภาฟู้ดส์ ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองดังกล่าว โดยรัฐแคลิฟอร์เนียและอีก 12 รัฐของสหรัฐฯ ที่อยู่ตามฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งเป็นเขตที่สถานกงสุลใหญ่ของไทย ณ นครลอสแอนเจลิส รับผิดชอบ เป็นย่านที่มีคนไทยในต่างแดนอาศัยมากที่สุดราว 300,000 คน ตามข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศ
“คิดว่าน้องมิลลิเป็นคนที่นำกระแสของข้าวเหนียวมะม่วงสู่ตลาดโลก ซึ่งจริงๆ ขายได้อยู่แล้ว แต่ทำให้ยิ่งขายดีขึ้นไปอีก มันทำให้เป็นกระแสว่าเฮ้ย ถ้าไปร้านอาหารไทยต้องไปหาเมนูนี้ ว่ามีมั้ย ข้าวเหนียวมะม่วง คิดว่ากระแสนี้ทำให้เมนูนี้ติดอันดับหนึ่งในช่วงนี้”
วิมพ์วิภา ชัยอุ่น เจ้าของบริษัทวิภาฟู้ดส์ กล่าวกับวีโอเอไทยถึงความต้องการมะม่วงที่เพิ่มขึ้นจนเธอต้องนำไปส่งก่อนกำหนด โดยเธอกล่าวว่า ในช่วงฤดูมะม่วงนี้ มักมียอดสั่งมะม่วงสัปดาห์ละ 30 ลัง ลังละ 12-14 ลูก โดยมียอดสั่งประมาณ 600-700 ลังตลอดฤดูกาล โดยร้านอาหารไทยนิยมสั่งมะม่วงจากเม็กซิโกซึ่งอยู่ใกล้สหรัฐฯ และต้นทุนต่ำกว่า โดยมีราคา 16-17 ดอลลาร์ต่อลัง ในขณะที่มะม่วงไทยจะมีราคาราว 50-60 ดอลลาร์ต่อลัง
“มีความพยายามเอา (มะม่วงไทย) เข้ามาเหมือนกัน แต่ว่าจะสู้ราคาค่าขนส่งไม่ได้ แล้วจะต้องผ่านการฉายรังสี ฉะนั้น ประเทศเพื่อนบ้านซึ่งใกล้กว่าก็จะมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่า”
ทำข้าวเหนียวมะม่วงไทยให้ “สุดปัง” อย่างไร ท่ามกลางวัตถุดิบที่จำกัดในต่างแดน
นอกจากจะได้รับความนิยมในกลุ่มคนไทยแล้ว ข้าวเหนียวมะม่วงยังเป็นของหวานจานเด็ดประจำร้านอาหารไทยหลายแห่งในสหรัฐฯ ที่จะต้องมีเป็น “ของหวานสามัญประจำบ้าน” อย่างไรก็ตาม โจทย์ที่ร้านอาหารไทยทุกร้านต้องแก้ให้ได้คือ จะปรุงข้าวเหนียวมะม่วงในสหรัฐฯ อย่างไรท่ามกลางข้อจำกัดของวัตถุดิบ?
นันทวุฒิ วุฒาพิทักษ์ ผู้จัดการร้านอาหารไทยกังวาล รัฐเวอร์จิเนีย เสิร์ฟข้าวเหนียวมะม่วงในร้านของเขานับตั้งแต่เปิดร้านมาเจ็ดปี โดยทางร้านเลือกใช้มะม่วงเม็กซิกันเช่นกัน โดยเลือกที่มีรสชาติและตัวเนื้อใกล้เคียงกับมะม่วงไทยที่สุด แม้เขาจะยอมรับว่า “มะม่วงเม็กซิกันบางประเภทจะเสี้ยนเยอะ และเปรี้ยวมากกว่าหวาน สุดท้ายมะม่วงที่ไทยอร่อยกว่าเยอะอยู่แล้ว”
จุดขายของร้านไทยกังวาลคือ การปรุงอาหารไทยให้มีรสชาติใกล้เคียงกับต้นตำรับมากที่สุด รวมถึงข้าวเหนียวมะม่วง ที่นันนทวุฒิให้ความสำคัญทั้งต่อการเลือกพันธุ์มะม่วง และวิธีการปรุงข้าวเหนียวมูนจากกะทิและน้ำตาล และต้องออกมาแบบเรียงเป็นเม็ด ไม่เละ ไม่เกาะกันแน่น และไม่มูนข้าวเหนียวทิ้งไว้นาน โดยจะมูนแล้วขายให้หมดภายใน 1-2 วัน
ข้าวเหนียวมูนนี้เป็นสิ่งที่ผู้จัดการร้านอาหารผู้นี้กล่าวว่า เป็นเมนูที่ลูกค้าต่างชาติทำเองไม่ได้ ต้องมารับประทานที่ร้านอาหารไทย และลูกค้า “ติดใจ” จนขอสั่งข้าวเหนียวมูนเปล่ามารับประทาน แม้ว่าจะเป็นช่วงที่ทางร้านงดขายข้าวเหนียวมะม่วงประมาณสองเดือนในช่วงฤดูหนาว เนื่องจากในช่วงดังกล่าวจะไม่มีมะม่วงพันธุ์ที่ร้านต้องการในตลาด
ร้าน Sisters Thai Alexandria ในรัฐเวอร์จิเนีย ก็เผชิญกับโจทย์ที่ไม่ได้มะม่วงพันธุ์ที่ต้องการตามฤดูกาล โดยภัทรานุช โกมล ผู้จัดการร้านดังกล่าว ระบุว่า โดยปกติทางร้านเลือกใช้มะม่วงพันธุ์แชมเปญจากเม็กซิโก ซึ่งมีความหวานหอมใกล้เคียงกับมะม่วงไทย ส่วนข้าวเหนียวจะใช้ข้าวเหนียวที่นำเข้าจากไทย หุงกับกะทิและใบเตยเพิ่มความหอม พร้อมใส่สีจากดอกอัญชัญ โดยเตรียมแบบแทบจะวันต่อวัน ก่อนนำมาประกอบกับมะม่วงและกะทิบนพานทองรองใบตองพร้อมเสิร์ฟ
“เราพยายามจะขายทั้งปี แต่อาจมีผลบ้างในตอนหน้าหนาวในการหามะม่วงจากเม็กซิโก ด้วยผลไม้เราต้องเข้าใจก่อนว่า ถ้าเป็นตามฤดู รสชาติก็จะดีกว่า แต่เราอาจมาปรับที่น้ำกะทิ ถ้ามะม่วงหวานน้อย เราอาจต้องเพิ่มน้ำกะทิให้หวานขึ้นนิดนึง เพื่อให้ข้าวเหนียวไปช่วย พอไปกินมันก็จะพอดี… เราก็ต้องลองปรับสูตรอยู่ตลอดเวลา” ภัทรานุชกล่าว ก่อนปิดท้ายว่า ข้าวเหนียวมะม่วงมีวิธีการที่ดูไม่ซับซ้อน แต่มีรายละเอียดในการทำ
นอกจากจะพยายามรักษาความเป็นต้นตำรับในข้าวเหนียวมะม่วงจานหลักแล้ว ทางร้าน Sisters Thai Alexandria ซึ่งมีเมนูของหวานทั้งไทยและเทศหลายสิบรายการ ยังนำเสนอข้าวเหนียวมะม่วงในรูปแบบอื่น เช่น บิงซูข้าวเหนียวมะม่วง สมูทตี้มะม่วง เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายมากขึ้น รวมถึงกลุ่มลูกค้าเด็กที่ภัทรานุชกล่าวว่า อาจไม่คุ้นเคยกับเมนูข้าวเหนียวมะม่วงและจะคุ้นเคยกับสมูทตี้มากกว่า และในอนาคตทางร้านยังมีแผนทำเค้กสังขยาที่มีส่วนประกอบทั้งครีมคัสตาร์ด ข้าวเหนียว และชิ้นมะม่วงเพื่อเพิ่มเนื้อสัมผัสในตัวเค้ก
Your browser doesn’t support HTML5
ร้านอาหารไทยทั้งสองกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ข้าวเหนียวมะม่วงเป็นของหวานที่ขายดีอันดับหนึ่งมาตั้งแต่เริ่มเปิดร้านจนถึงปัจจุบัน โดยร้านไทยกังวาลใช้มะม่วงเพื่อทำของหวานจานนี้สัปดาห์ละสองลัง ขณะที่ร้าน Sisters Thai Alexandria ระบุว่า ทางร้านมียอดขายข้าวเหนียวมะม่วงจานละ 10 ดอลลาร์ ได้ราวเดือนละ 200-300 จาน ตกเป็นยอดขายราวเดือนละ 2,000 – 3,000 ดอลลาร์
เนื่องจากร้านอาหารไทยทั้งสองร้านรับกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย ไม่เน้นเฉพาะแต่กลุ่มลูกค้าไทยเท่านั้น ผู้จัดการร้านทั้งสองจึงยอมรับว่า ยังไม่ได้สัมผัสถึงกระแสข้าวเหนียวมะม่วงของ “มิลลิ” มากนัก แต่ก็รู้สึกยินดีที่มีการนำเสนอของหวานไทยที่เป็นที่นิยมอยู่แล้ว ให้ปรากฎสู่สายตาชาวโลกมากขึ้น
“สิ่งหนึ่งที่น้องเขาทำแล้วมันดีตรงที่ว่า ทุกครั้งที่มีดาราที่มีชื่อเสียง เอาอาหารการกินหรือวัฒนธรรมของไทยมาเสนอ มันทำให้คนต่างชาติที่เขาอาจไม่รู้จักข้าวเหนียวมะม่วงมาก่อนเลย เขาอาจจะมีความรู้สึกว่า อยากจะลอง” นันทวุฒิแห่งร้านไทยกังวาล กล่าว ในขณะที่ภัทรานุช แห่งร้าน Sisters Thai Alexandria ระบุว่า “น้องเขานำเสนอแบบแปลกไป เพราะเขาเป็นเด็กรุ่นใหม่ การนำเสนอแบบนั้นอาจทำให้คนที่เคยลืมไปแล้ว กลับมาจำข้าวเหนียวมะม่วง ก็อาจทำให้ลูกค้ามามากขึ้น”
ความ “เข้าถึงง่าย” ของข้าวเหนียวมะม่วง เสน่ห์มัดใจชาวต่างชาติ
วีโอเอไทยสำรวจความเห็นผ่านเฟซบุ๊กจากชาวต่างชาติในกรุงวอชิงตันและรัฐเวอร์จิเนียทางตอนเหนือถึงเหตุผลที่ชื่นชอบข้าวเหนียวมะม่วง ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยที่ระบุว่า ข้าวเหนียวมะม่วงที่มีความหวานและความเค็มลงตัวกันอย่างกลมกล่อมนี้ ตัวข้าวเหนียวมูนมีความคล้ายคลึงกับของหวานที่พวกเขารู้จักอยู่แล้ว เช่น พุดดิ้งข้าว คัสตาร์ด บวกกับมะม่วงซึ่งเป็นผลไม้ที่พบได้มากในประเทศเพื่อนบ้านของสหรัฐฯ อย่างเม็กซิโก ทำให้มีความรู้สึกเข้าถึงได้ง่าย
ผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊ก เอริกา เวสต์ กล่าวว่า ครอบครัวของเธอมาจากเม็กซิโก และข้าวเหนียวมะม่วงทำให้เธอนึกถึงอาร์รอซ คอน เลเช (arroz con leche) ซึ่งเป็นพุดดิ้งข้าวและนม นอกจากนี้ ชาวเม็กซิกันยังบริโภคมะม่วงเป็นประจำ ข้าวเหนียวมะม่วงจานนี้จึงเป็นอาหารที่ทำให้เธอ “นึกถึงบ้าน” แม้จะเป็นอาหารที่มาจากไทยก็ตาม เช่นเดียวกับแจคเคอลีน โคลแมน ที่กล่าวว่า ข้าวเหนียวมะม่วงทำให้เธอนึกถึงพุดดิ้งข้าวฝีมือญาติผู้ใหญ่ชาวกรีกของเธอ
ในขณะที่ ลอเรนซา การ์เซีย ชาวฟิลิปปินส์ ซึ่งพาครอบครัวมารับประทานอาหารไทยและสั่งทั้งข้าวเหนียวมะม่วงและบิงซูข้าวเหนียวมะม่วงที่ร้าน Sisters Thai Alexandria กล่าวกับวีโอเอไทยว่า พวกเธอสั่งของหวานที่มีข้าวเหนียวและมะม่วงถึงสองจาน เพราะรสชาติที่พวกเธอคุ้นเคยจากบ้านเกิด ทั้งมะม่วงที่เป็นผลไม้เขตร้อนที่พบมากในฟิลิปปินส์อยู่แล้ว และตัวของข้าวเหนียวมูนที่คล้ายกับ ปูโต มายา (Puto Maya) อาหารเช้าของฟิลิปปินส์ที่ทำจากข้าวเหนียวหุงกับกะทิและขิงห่อในกรวยใบตอง
ทั้งนี้ ข้าวเหนียวมะม่วงเป็นวัฒนธรรมอาหารร่วมกันของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยนอกจากไทยและฟิลิปปินส์แล้ว ยังมี “ข้าวเหนียวหมากม่วง” ของลาว “Bey Dom Neib” ของกัมพูชา ลาว และ “Xôi Xoài” ของเวียดนาม โดยข้าวเหนียวมะม่วงเคยได้รับการจัดอันดับจากเว็บไซต์ซีเอ็นเอ็น ทราเวล เมื่อปีค.ศ. 2018 ให้เห็นหนึ่งใน 50 ขนมที่ดีที่สุดในโลกมาแล้ว
- รายงานโดย วรรษมน อุจจรินทร์ และสุภกิจ ภัทรธีรานนท์ VOA Thai