Your browser doesn’t support HTML5
ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติของมาเลเซีย พล.ต.อ Khalid Abu Bakar เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวถึงการค้นพบหลุมฝังศพ 139 แห่ง และค่ายผู้ลี้ภัยอีก 28 แห่งทางภาคเหนือของมาเลเซียติดกับชายแดนไทย ในช่วงวันที่ 11 – 23 พ.ค โดยบอกว่าทางตำรวจกำลังรวบรวมหลักฐานต่างๆ เพื่อนำไปสืบสวนว่า เศษโครงกระดูกเหล่านั้นคือใครและเสียชีวิตจากสาเหตุใด
ตำรวจมาเลเซียระบุว่าค่ายที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่ค้นพบนั้นน่าจะจุคนได้ถึง 300 คน อยู่ในพื้นที่หุบเขาห่างไกลในเขตรัฐเปอร์ลิส ติดกับชายแดนจังหวัดสงขลา ซึ่งมีการค้นพบหลุมฝังศพหลายแห่งก่อนหน้านี้ โดยบางหลุมอยู่ห่างจากหลุมที่พบใน จ.สงขลา เพียง 100 เมตร
Phil Robertson รอง ผอ.ฝ่ายเอเชียของ Human Rights Watch กล่าวว่าบริเวณชายแดนมาเลเซียติดกับจังหวัดสงขลาของไทย เป็นสถานที่ตั้งของค่ายผู้ลี้ภัยซึ่งทางขบวนการค้ามนุษย์ใช้เป็นที่กักตัวผู้ลี้ภัยเพื่อเรียกเงินค่าไถ่แลกกับการปล่อยตัวผู้ลี้ภัยเหล่านั้น Phil Robertson เชื่อด้วยว่าเจ้าหน้าที่รัฐบาลทั้งทางฝั่งไทยและมาเลเซียต่างมีส่วนรู้เห็นกับการทำงานของขบวนการค้ามนุษย์
เวลานี้ทั้งมาเลเซียและไทยต่างกำลังเผชิญข้อกล่าวหาจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ว่าทำไม่รู้ไม่เห็นต่อปัญหาการลักลอบค้ามนุษย์ รวมทั้งปัญหาคอรัปชั่นของบรรดาเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้
ทางผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติของมาเลเซียรับปากว่า จะดำเนินการสวบสวนอย่างจริงจังว่ามีเจ้าหน้าที่มาเลเซียเกี่ยวข้องหรือไม่ ส่วนทางด้านไทยก่อนหน้านี้ได้มีการจับกุมและออกหมายจับผู้ต้องหาเกือบ 80 คน ที่เชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์แล้ว
อย่างไรก็ตาม คุณ Phil Robertson เชื่อว่าคงเป็นเรื่องยากที่จะสาวไปถึงตัวผู้อยู่เบื้องหลังรายใหญ่ ทั้งทางฝั่งไทยและมาเลเซีย รอง ผอ.ฝ่ายเอเชียของ Human Rights Watch ระบุว่าการดำเนินการจับกุมตำรวจและนักการเมืองท้องถิ่นในประเทศไทย คือก้าวแรกในการปราบปรามปัญหาการค้ามนุษย์ แต่ยังถือว่าเป็นเพียงระดับล่างของเครือข่ายขบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งยากที่จะสาวไปถึงตัวการใหญ่ และเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในมาเลเซียก็คงไม่ต่างกัน
การตรวจตราที่เข้มงวดขึ้นตามแนวพรมแดนไทย-มาเลเซียในช่วงนี้ ทำให้สมาชิกขบวนการค้ามนุษย์จำนวนมากตัดสินใจสละเรือบรรทุกผู้ลี้ภัยจากพม่าและบังกลาเทศ เนื่องจากไม่สามารถหาที่พักให้คนเหล่านั้นบนแผ่นดินได้ ทำให้มีผู้ลี้ภัยจำนวนมากติดค้างอยู่บนเรือกลางทะเล ขาดแคลนทั้งอาหารและน้ำ
สัปดาห์ที่แล้วอินโดนีเซียและมาเลเซียตกลงรับผู้ลี้ภัยส่วนหนึ่งขึ้นฝั่งชั่วคราว และจะดำเนินการส่งกลับประเทศหรือส่งตัวไปยังประเทศอื่นต่อไป แต่ทางองค์กรสิทธิมนุษยชนเชื่อว่าขณะนี้ยังมีผู้ลี้ภัยอีกหลายพันคนที่ยังคงอยู่บนเรือกลางทะเลอันดามัน
รายงานจากผู้สื่อข่าววีโอเอประจำกรุงเทพฯ Steve Herman / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง