ผู้เชี่ยวชาญกังวลนโยบายจำกัดแรงงานต่างชาติของมาเลเซียอาจส่งผลเสียมากกว่าผลดี

Virus Outbreak Malaysia

Your browser doesn’t support HTML5

Business News


กลุ่มธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายแสดงความกังวลว่า นโยบายใหม่ของรัฐบาลมาเลเซียที่จำกัดการจ้างแรงงานต่างชาติเพื่อผลักดันให้แรงงานในประเทศยอมกลับเข้าทำงาน อาจส่งผลเสียมากกว่าผลดี

การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ในมาเลเซียส่งผลให้ประชาชนตกอยู่ในภาวะว่างงานแล้วกว่า 300,000 ราย ในช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์และเดือนพฤษภาคม ซึ่งทำให้อัตราว่างงานในประเทศพุ่งขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 5.3 เปอร์เซ็นต์ ก่อนที่ตัวเลขนี้จะลดลงเล็กน้อยในเดือนมิถุนายน

อาวาง ฮาชิม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงทรัพยากรมนุษย์ แจ้งต่อรัฐสภามาเลเซียเมื่อเดือนที่แล้วว่า ทางกระทรวงฯ จะออกคำสั่งที่อนุญาตให้เฉพาะอุตสาหกรรมการก่อสร้างและการเกษตรสามารถจ้างแรงงานต่างชาติได้ ด้วยจุดประสงค์ที่จะดึงชาวมาเลเซียให้กลับสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม มาเลเซียพึ่งพาแรงงานต่างชาติอย่างมากสำหรับงานที่อยู่ในกลุ่ม 3-D คือ Dirty, Dangerous and Difficult หรือ สกปรก อันตราย และยากลำบาก ซึ่งเป็นงานที่คนมาเลเซียไม่ต้องการทำ โดยแรงงานต่างด้าวเหล่านี้กลายมาเป็นส่วนสำคัญในการทำให้มาเลเซียกลายมาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

ข้อมูลจากกระทรวงทรัพยากรมนุษย์มาเลเซียระบุว่า ปกตินั้น แรงงานต่างชาติในประเทศมีอยู่ราว 2.1 ล้านคน โดยตัวเลขนี้ไม่ได้คิดรวมแรงงานผิดกฎหมายซึ่งคาดว่าจะทำให้ตัวเลขรวมสูงกว่าตัวเลขทางการอีกเท่าตัว

นโยบายดังกล่าวทำให้สมาพันธ์นายจ้างมาเลเซีย หรือ Malaysian Employers Federation และ สมาคมเอสเอ็มอี หรือ Small and Medium Enterprises Association รวมทั้ง สมาพันธ์ผู้ผลิตมาเลเซีย หรือ Federation of Malaysian Manufacturers ออกมาวิจารณ์รัฐบาลมาเลเซียกันอย่างกว้างขวาง พร้อมเตือนว่า นโยบายนี้อาจทำให้บริษัทจำนวนมากที่ต้องพึ่งแรงงานต่างชาติแต่ไม่ได้รับอนุญาต เช่น อุตสาหกรรมการผลิต และงานด้านบริการ เช่น งานคนรับใช้ในบ้าน จะได้รับผลกระทบและเกิดความเสียหายได้

ในประเด็นนี้ อาชิม ชมิลเลน นักเศรษฐศาสตร์ด้านแรงงานจากสำนักงานธนาคารโลกประจำมาเลเซีย แสดงความเห็นด้วย พร้อมกล่าวว่า ยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่า การใช้แรงงานต่างชาตินั้นมีผลกระทบด้านลบอย่างกว้างขวางต่อการว่าจ้างงานหรือค่าจ้างแรงงานของชาวมาเลเซียเลย แต่การวิจัยกลับพบว่า ประชาชนของมาเลเซียกลับพึงพอใจ เพราะการใช้แรงงานต่างด้าวในงานใช้แรงงาน เช่น ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง นั้นหมายถึงความต้องการจ้างงานผู้ควบคุมงาน หรือ วิศวกร ที่ต้องเป็นชาวมาเลเซีย มาดูแลเพิ่มขึ้น เป็นต้น

นอกจากนั้น อาชิม ยังเตือนว่า กฎใหม่นี้อาจทำให้ภาวะขาดแคลนแรงงานในประเทศรุนแรงขึ้น ขณะที่รัฐบาลกำลังพยายามพลิกฟื้นสภาพเศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 ด้วย