รัฐบาลมาเลเซียเผชิญแรงกดดันลงมติงบประมาณก้อนใหญ่เป็นประวัติการณ์

Malaysia's Prime Minister Muhyiddin Yassin and Finance Minister Tengku Zafrul arrive at Parliament to table 2021 budget in Kuala Lumpur, Nov. 6, 2020. (Malaysia Information Department/Nazri Rapaai/Handout via Reuters)

นายกรัฐมนตรี มูห์ยิดดิน ยัสซิน แห่งมาเลเซีย กำลังเผชิญแรงกดดันทางการเมืองครั้งใหญ่ จากการที่สภาผู้แทนราษฎรต้องลงมติกฎหมายงบประมาณฉบับใหม่ที่มีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งอาจชี้ชะตารัฐบาลชุดปัจจุบัน และนำไปสู่การเลือกตั้งใหม่ในเร็วๆ นี้

หลังการเปลี่ยนแปลงของขั้วการเมืองที่นำมาซึ่งการสิ้นสุดของรัฐบาลชุดที่นำโดย มหาธีร์ โมฮัมหมัด เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ รัฐบาลของ นายกรัฐมนตรี มูห์ยิดดิน ยัสซิน ทำการบริหารประเทศด้วยเสียงส่วนใหญ่แบบปริ่มน้ำที่เพียง 113 ที่นั่ง จากจำนวนสมาชิกสภาล่างทั้งหมด 222 ที่นั่ง ขณะที่ ฝ่ายค้านของมาเลเซียพยายามที่จะโจมตีผู้นำคนปัจจุบันมาโดยตลอด โดยเฉพาะเมื่อสภาพรัฐบาลผสมนี้มีทิศทางที่อาจแตกคอได้ทุกเมื่อ

การลงมติผ่านร่างกฎหมายงบประมาณประจำปี 2021 กลายมาเป็นประเด็นสำคัญที่อาจพลิกสถานการณ์ทางการเมืองของมาเลเซียอีกครั้ง เมื่อมีรายงานว่า รัฐบาลอาจจะขาดเสียงสนับสนุนภายในกันเอง

อาดิบ ซาลคาปลิ ผู้อำนวยการบริษัทที่ปรึกษา Bower Group Asia ชี้ว่า มติงบประมาณนั้นคือบททดสอบสำคัญของความชอบธรรมของรัฐบาล และยังเป็นตัวชี้วัดว่า รัฐบาลชุดนี้ยังคงเสียงส่วนใหญ่ในสภาไว้ได้หรือไม่

ซาลคาปลิ กล่าวด้วยว่า ภายใต้รูปแบบรัฐสภามาเลเซีย ที่หยิบยืมมาจากสภา Westminster ของอังกฤษนั้น การลงมติงบประมาณ เปรียบเสมือน การลงมติไว้วางใจโดยพฤตินัย ด้วย

และแม้ว่ารัฐธรรมนูญของมาเลเซียจะไม่ได้ระบุว่า รัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรีที่พ่ายแพ้การลงมติดังกล่าวจะต้องลาออก ประเพณีของรูปแบบรัฐสภาจากอังกฤษนี้ก็คือ นายกรัฐมนตรีควรนำทีมรัฐบาลลาออก หรือทำการยุบสภา หากแพ้การลงมตินี้

และหากเกิดการยุบสภาขึ้นจริง ความน่าจะเป็น 2 อย่างที่จะเกิดขึ้นคือ มาเลเซียจะต้องจัดการเลือกตั้งขึ้นก่อนกำหนด หรือ สมเด็จพระราชาธิบดี อัล-สุลต่าน อับดุลเลาะห์ กษัตริย์แห่งมาเลเซีย อาจเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ขึ้นมานำรัฐบาลได้

ทั้งนี้ สถานการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่และอาจเกิดขึ้นกับรัฐบาลมาเลเซีย เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน เนื่องจากไม่เคยมีรัฐบาลชุดใดมีเสียงส่วนใหญ่แบบปริ่มน้ำเช่นชุดปัจจุบัน ทำให้ผู้สันทัดกรณีสรุปว่า มีโอกาสครึ่งต่อครึ่ง ที่นายกรัฐมนตรี มูห์ยิดดิน ยัสซิน จะรอดพ้นจากความท้าทายทางการเมืองครั้งนี้ไปได้