รัฐบาลมาเลเซียผ่อนคลายมาตรการห้ามจ้างแรงงานต่างด้าว หลังจากที่กลุ่มธุรกิจต่าง ๆ เตือนว่าคำสั่งดังกล่าวอาจเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจมาเลเซียที่ซบเซาจากการระบาดของโคโรนาไวรัส
รัฐบาลมาเลเซียใช้มาตรการล็อคดาวน์ประเทศในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้มีประชาชนมาเลเซียตกงานกว่า 300,000 คน ส่งผลให้กระทรวงทรัพยากรมนุษย์ของมาเลเซียต้องประกาศห้ามจ้างแรงงานต่างชาติ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมก่อสร้างและภาคการเกษตร ตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม
อย่างไรก็ตาม กลุ่มองค์กรด้านธุรกิจต่าง ๆ เตือนว่า มาตรการดังกล่าวของรัฐบาลมาเลเซียจะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ และจะทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมที่มีคนทำงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างชาติ และเป็นงานที่ชาวมาเลเซียไม่ต้องการทำ เช่น แรงงานในอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน และแรงงานก่อสร้าง
ขณะที่นักวิเคราะห์เสริมว่า แรงงานต่างชาติในมาเลเซียส่วนใหญ่มิได้แข่งขันกับชาวมาเลเซียในตำแหน่งงานเดียวกัน แต่จะเป็นไปในลักษณะสร้างงานสำหรับชาวมาเลเซียที่มีทักษะฝีมือสูงกว่า
มาเลเซียพึ่งพาแรงงานต่างชาติอย่างมากสำหรับงานที่อยู่ในกลุ่ม 3-D คือ Dirty, Dangerous and Difficult หรือ สกปรก อันตราย และยากลำบาก ซึ่งเป็นงานที่คนมาเลเซียไม่ต้องการทำ โดยแรงงานต่างด้าวเหล่านี้กลายมาเป็นส่วนสำคัญในการทำให้มาเลเซียกลายมาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย
ข้อมูลจากกระทรวงทรัพยากรมนุษย์มาเลเซียระบุว่า ปกตินั้น แรงงานต่างชาติในประเทศมีอยู่ราว 2.1 ล้านคน โดยตัวเลขนี้ไม่ได้คิดรวมแรงงานผิดกฎหมายซึ่งคาดว่าจะทำให้ตัวเลขรวมสูงกว่าตัวเลขทางการอีกเท่าตัว
ท่ามกลางแรงกดดันและข้อโต้แย้งเรื่องนี้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรมนุษย์มาเลเซีย ได้ประกาศว่าทุกอุตสาหกรรมสามารถจ้างแรงงานต่างชาติได้ แต่ต้องเป็นแรงงานที่มีใบอนุญาตทำงานถูกต้องและอยู่ในงานที่เคยทำมาแล้ว
บรรดาธุรกิจต่าง ๆ พากันยินดีต่อการผ่อนคลายนี้ แต่ก็ยังมีการร้องขอให้รัฐบาลช่วยผ่อนคลายข้อกำหนดเรื่องใบอนุญาตทำงานและการจำกัดให้ทำงานได้ภายในอุตสาหกรรมเดิมที่เคยทำ
ด้านนักวิเคราะห์เชื่อว่า ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจของมาเลเซียในไตรมาสที่สอง ซึ่งหดตัวลงมากกว่า 17% คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้รัฐบาลต้องทบทวนมาตรการจำกัดแรงงานต่างชาติใหม่ดังกล่าว