Your browser doesn’t support HTML5
ทีมนักวิจัยอังกฤษนี้ทำการศึกษาการเกิดโรคในพื้นที่ 3,000 ตารางกิโลเมตรในรัฐชาบาของมาเลเซีย ที่มีประชากรทั้งหมด 120,000 คน และพื้นที่ป่าบริเวณกว้างในเขตนี้นี้ถูกตัดทำลายเพื่อใช้ที่ดินปลูกต้นปาล์มน้ำมันและพืชชนิดอื่นๆ
ทีมนักวิจัยศึกษาข้อมูลจากโรงพยาบาลและข้อมูลแผนที่ทางดาวเทียม และพบว่าการเปลี่ยนแปลงของการใช้ที่ดินเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับการแพร่ของเชื้อมาลาเรียชนิดที่พบในสัตว์ที่เรียกว่า Plasmodium knowlesi มาสู่คน
ศาสตราจารย์ Chris Drakeley สมาชิกทีมวิจัยกล่าวว่าโดยปกติเเล้ว เชื้อมาลาเรียชนิดนี้ติดต่อในลิงป่าพันธุ์หนึ่ง แต่ในหลายปีที่ผ่านมา มีคนมาเลเซียในพื้นที่ทางเหนือของบอร์เนียวติดเชื้อมาลาเรียสายพันธุ์นี้กันมากขึ้นและเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล
ทีมนักวิจัยชี้ว่าคนติดเชื้อมาลาเรียสายพันธุ์ที่แพร่ในสัตว์ป่า เนื่องจากเข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมในป่าที่ลิงอาศัยอยู่ และเป็นสภาพแวดล้อมที่มียุงที่เป็นพาหะของโรคนี้ ชาวบ้านท้องถิ่นจำนวนมากรับจ้างแผ้วถางป่าเพื่อขยายพื้นที่ทำการเกษตร
ศาสตราจารย์ Drakeley กล่าวว่าเชื้อมาลาเรียสายพันธุ์ Plasmodium knowlesi กลายเป็นเชื้อมาลาเรียที่พบได้ทั่วไปในคนในหลายๆ ส่วนของมาเลเซีย และยังพบว่ามีการระบาดในคนในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย
ศาสตราจารย์ Drakeley กล่าวว่าเชื้อมาลาเรียสายพันธุ์นี้สามารถขยายจำนวนได้อย่างรวดเร็วในกระเเสเลือดของคน ซึ่งหมายความว่าผู้ติดเชื้อจะมีอาการป่วยรุนแรงและอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง
ยังไม่ปรากฏว่าเชื้อมาลาเรียสายพันธุ์นี้สามารถติดต่อจากคนสู่คน อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิจัยชี้ว่าผลการศึกษานี้เน้นย้ำว่าการตัดไม้ทำลายป่าได้สร้างผลกระทบทางสุขภาพของคนตามมาอย่างที่ไม่เคยพบมาก่อน และจำเป็นต้องหาทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน
(เรียบเรียงโดย ทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)