ร.10 ทรงตอบคำถามผู้สื่อข่าวตปท. "ไทยเป็นดินแดนแห่งการประนีประนอม"

King Maha Vajiralongkorn and Queen Suthida greet supporters in Bangkok, Thailand, Sunday, Nov. 1, 2020. Under increasing pressure from protesters demanding reforms to the monarchy, Thailand's king and queen met Sunday with thousands of adoring supporters in Bangkok, mixing with c

เมื่อวันอาทิตย์ตามเวลาท้องถิ่น พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตอบคำถามนายโจนาธาน มิลเลอร์ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นและสำนักข่าวชาแนล โฟร์ ระหว่างที่พระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์บางส่วนพบปะพสกนิกรที่เฝ้ารอรับเสด็จ หลังเสด็จไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อทรงเปลี่ยนเครื่องทรงฤดูฝนเป็นเครื่องทรงฤดูหนาว ถวายพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร

ตามภาพวิดีโอความยาวไม่ถึงหนึ่งนาที ที่เผยแพร่โดยสำนักข่าวชาแนลโฟร์ บทสนทนาภาษาอังกฤษระหว่างพระมหากษัตริย์ไทยและผู้สื่อข่าว แปลเป็นภาษาไทยได้ดังต่อไปนี้

ผู้สื่อข่าว: ฝ่าบาท ประชาชนเหล่านี้รักพระองค์ แต่จะตรัสอะไรกับผู้ประท้วงตามท้องถนนที่ต้องการการปฏิรูปบ้างพะยะค่ะ?
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว: ข้าพเจ้าไม่มีความเห็น

(สมเด็จพระราชินีทรงพระสรวลเล็กน้อย)

ผู้สื่อข่าว: ทรงไม่มีความเห็นหรือพะยะค่ะ?
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว: เรารักพวกเขาทั้งหมดเหมือนกัน (ตรัสประโยคนี้สามครั้ง)

ผู้สื่อข่าว: ทรงคิดว่ามีพื้นที่สำหรับการประนีประนอมกันได้หรือไม่พะยะค่ะ?
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว: ประเทศไทยเป็นดินเเดนแห่งการประนีประนอม

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา: ขอบคุณมาก ขอบคุณมาก

สมเด็จพระราชินี: พวกเรารักคุณเช่นกัน พวกเรารักคุณเช่นกัน (ทรงโบกพระหัตถ์และชูพระอังคุฐ)

บทสัมภาษณ์ดังกล่าวถือเป็นครั้งแรกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานบทสัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนนับตั้งแต่ทรงครองราชย์เมื่อปีพ.ศ. 2559 และไม่ได้พระราชทานบทสัมภาษณ์แก่สื่อใดๆ มานานหลายปีตั้งแต่ยังทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร

การที่ทรงมีพระราชปฏิสันถารแก่สื่อที่มารอสัมภาษณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางประชาชนหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระราชินี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงพบปะกับประชาชนอย่างใกล้ชิดมากขึ้นนับตั้งแต่เมื่อเดือนตุลาคม

ขณะเดียวกัน ประเทศไทยยังคงเผชิญกับการประท้วงครั้งใหญ่ของ "คณะราษฎร" ที่ผู้ชุมนุมจำนวนมากเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลาออกจากตำแหน่ง เรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

การประท้วงที่ก่อนหน้านี้มีขึ้นแบบรายเดือนได้ยกระดับขึ้นตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม หลังมีเหตุการณ์ขบวนเสด็จของสมเด็จพระราชินีและสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ ขับผ่านกลุ่มผู้ประท้วงที่ตะโกนและทำสัญลักษณ์ชูสามนิ้วใส่ขบวนเสด็จ ท่ามกลางความกังขาถึงมาตรการการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ว่าเหตุใดจึงให้รถขบวนเสด็จผ่านในบริเวณดังกล่าวได้

รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ได้อ้างเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นหนึ่งในสาเหตุประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และมีการใช้เครื่องฉีดน้ำผสมสารเคมีสลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม หลังจากนั้นผู้ประท้วงทั่วประเทศรวมตัวประท้วงอย่างสันติกันมากขึ้น และมีการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวไปในวันที่ 22 ตุลาคม ทั้งนี้ยังมีแกนนำผู้ประท้วงจำนวนหนึ่งที่ยังคงถูกดำเนินการทางกฎหมาย