สำนักข่าวต่างชาติหลายแห่ง รวมทั้ง รอยเตอร์ และ บลูมเบิร์ก รายงานคำแถลงของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี ไฮโก มาส (Heiko Maas) ที่ระบุว่ารัฐบาลเยอรมนีกำลังติดตามพระจริยวัตรของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ระหว่างประทับในแคว้นบาวาเรีย เยอรมนี อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การประท้วงในประเทศไทยยังคงดำเนินต่อไป
รัฐมนตรีมาส กล่าวว่า เยอรมนีกำลังติดตามเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว และจะมีผลตามมาโดยทันทีหากพบว่ามีการกระทำใดเข้าข่ายผิดกฎหมาย
สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า ที่ผ่านมารัฐบาลเยอรมนีได้ระบุไว้ว่า เป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้หากพระมหากษัตริย์ไทยทรงงานทางการเมืองจากเยอรมนี
ขณะเดียวกัน ที่กรุงเทพฯ ผู้ชุมนุมประท้วงได้เดินขบวนไปยังสถานทูตเยอรมนีประจำประเทศไทยในวันจันทร์ เพื่อยื่นคำร้องต่อรัฐบาลกรุงเบอร์ลินให้เริ่มกระบวนการตรวจสอบว่าพระมหากษัตริย์ไทยใช้พระราชอำนาจขณะทรงประทับอยู่ในเยอรมนีหรือไม่
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า ผู้ประท้วงได้ขอให้รัฐบาลเยอรมนีชี้แจงและตรวจสอบประวัติด้านสิทธิมนุษยชนของพระองค์และข้าราชบริพารระหว่างพำนักอยู่ในเยอรมนีด้วย
บลูมเบิร์ก ระบุว่าได้ติดต่อไปยังสำนักพระราชวังเพื่อขอความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ไม่ได้รับคำตอบ
บลูมเบิร์ก ยังได้รายงานความเห็นของรองศาสตราจารย์คริสโตเฟอร์ แองเคอร์เซน แห่งศูนย์ศึกษาด้านกิจการโลก มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก เกี่ยวกับการประท้วงในประเทศไทย ซึ่ง รศ.แองเคอร์เซน ให้ความเห็นว่า รัฐบาลไทยอาจถูกดึงลงไปสู่การเผชิญหน้ากับผู้ประท้วงเป็นเวลายาวนาน ซึ่งรวมถึงการจับกุมคุมขังและคุกคามแกนนำของผู้ประท้วง โดยหวังว่าจะกลบกระแสการเคลื่อนไหวครั้งนี้
นักวิเคราะห์ผู้นี้ชี้ด้วยว่า หากรัฐบาลไทยถูกกดดันให้เข้าสู่การประนีประนอมด้วยการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็อาจนำไปสู่กระบวนการซื้อเวลาที่ล่าช้ายาวนานและซ่อนเร้น นอกจากนี้ยังเชื่อด้วยว่า การลาออกของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็อาจถูกนำมาพิจารณาได้เช่นกัน