ในปัจจุบันนี้ ซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มีความสามารถที่จะสร้างสรรค์ผลงานงานศิลป์ดิจิทัลได้อย่างง่ายดาย แต่เทคโนโลยีนี้ก็ยังต้องการศิลปินเพื่อผลิตชิ้นงานอยู่ดี
อย่างไรก็ดี การพัฒนาซอฟต์แวร์ AI ล่าสุดกำลังเป็นที่สนใจของคนในแวดวงศิลปะมากขึ้น ด้วยความสามารถในการผลิตผลงานศิลป์เพียงใช้คำสั่งที่พิมพ์ผ่านตัวอักษรเท่านั้น
บริษัทเทคโนโลยี Open AI ที่ตั้งอยู่ในนครซาน ฟรานซิสโก ได้พัฒนาโปรแกรมซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์ที่ชื่อว่า ดอล-อีทู (DALL-E 2) ซึ่งเป็นปัญญาประดิษฐ์รุ่นล่าสุดที่สามารถรังสรรค์ภาพจากการดึงรูปในฐานข้อมูลที่มีอยู่มาใช้ซ้ำ โปรแกรม AI จะผลิตผลงานศิลปะอย่างไร้ข้อจำกัด เพียงแค่ผู้ใช้งานพิมพ์สิ่งที่ต้องการลงไป อย่างเช่น สร้างรูป “นักบินอวกาศที่กำลังขี่ม้าอยู่บนดวงจันทร์” หรือสร้างรูป “สุนัขสวมหมวกเบเร่ต์” แล้วโปรแกรมนี้ก็จะผลิตรูปให้ตรงกับข้อมูลที่ถูกป้อนเข้าไป
การทำงานของ ดอล-อีทู คือการฝึกให้โครงข่ายของปัญญาประดิษฐ์จับคู่คำสั่งอธิบายให้ตรงกับรูปที่มีจำนวนหลายร้อยล้านภาพในระบบ และสามารถถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานรูปภาพแทบจะทันที แม้จะเป็นคำสั่งที่ดูเหมือนมาจากจินตนาการที่ไร้กฏเกณฑ์ อย่างเช่น “แทนตำแหน่งของสาวใส่ต่างหูมุก ในภาพของศิลปินชื่อดัง โยฮันเนส เฟอร์เมียร์ ให้เป็นตัวนากทะเล” โปรแกรมนี้ก็สามารถสร้างรูปภาพออกมา ได้อย่างน่าประหลาดใจ
อีลาน ไบรเนส วัย 19 ปี เป็นผู้หนึ่งที่ถูกจัดให้อยู่กลุ่มผู้ใช้งานโปรแกรม ดอล-อีทู ซึ่งมีอยู่เพียง 1 ล้านคนเท่านั้น
ไบรเนส ให้ความเห็นว่า “โดยส่วนตัว ไม่คิดว่าจะมีใครมองเทคโนโลยีนี้มาแทนที่ศิลปินจริง ๆ หรือนำมาใช้แทนผลงานกราฟิกดีไซน์ แต่โปรแกรมนี้จะเป็นเครื่องมือสำหรับศิลปินในการสร้างสรรค์และเชื่อมต่อสิ่งที่อยู่ในความคิดของพวกเขา ให้ถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานได้”
วีโอเอ ยังได้พูดคุยกับ ฮานี ฟารีด อาจารย์ด้านนิติวิทยาคอมพิวเตอร์ จากมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย (University of California) วิทยาเขตเบิร์กลีย์ ที่มีโอกาสได้ทดลองการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ ดอล-อีทู ด้วย
ฟารีด กล่าวว่า ความประทับใจแรกของตนคือ “รู้สึกทึ่งอย่างมาก” แต่ก็ยอมรับว่า โปรแกรมนี้ไม่ได้ผลิตผลงานออกมาได้ถูกต้องตามคาดทุกครั้ง
ฟารีด ยกตัวอย่างของการพิมพ์คำสั่ง “สร้างรูปสี่เหลี่ยมทรงลูกบาศก์จำนวน 3 ชิ้น วางอยู่บนทางเท้าที่มีแสงแดดส่องลงมา” ก่อนจะพบว่า ภาพที่ถูกสร้างขึ้นจาก ดอล-อีทู มีตำแหน่งของแสงและเงาที่ผิดเพี้ยนไปจากหลักความเป็นจริง
อาจารย์ด้านนิติวิทยาคอมพิวเตอร์รายนี้ยังแสดงทัศนะว่า จุดต่าง ๆ ที่ไม่สอดคล้องกันในภาพ เป็นรายละเอียดเบาะแสที่ช่วยให้นักวิจัยซึ่งรวมถึงตัวเขาด้วยสามารถวิเคราะห์ว่า ภาพนั้นเป็นของจริงหรือเป็นของปลอมที่ถูกสร้างขึ้นมา แต่เขาเชื่อว่า เมื่อระบบมีความหน้ามากขึ้น การแยกแยะความแตกต่างนั้นก็จะยากขึ้นไปโดยปริยาย
นอกจากนั้น ปริมาณของผลงานที่สร้างโดยโปรแกรม AI แบบนี้ที่จะมีออกมาในอนาคต ก็เป็นอีกประเด็นความท้าทายของผู้เชี่ยวชาญด้วย
ฟารีดกล่าวว่า “เราจะไม่ได้ตรวจสอบเพียงแค่ 2-3 ภาพต่อสัปดาห์ หรือ ต่อเดือน หรือต่อปี แต่จะมีภาพเป็นพัน ๆ ให้ตรวจสอบทุกชั่วโมง จากความสามารถของโปรแกรมที่จะสังเคราะห์ เพื่อนำออกเผยแพร่ และบิดเบือนโลกของความเป็นจริงได้”
อย่างไรก็ตาม เมื่อมองดูในแง่ของวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีแล้ว โปรแกรมอย่าง ดอล-อีทู ถือว่า เป็นความสำเร็จขั้นหนึ่งในการผลักดันและฝ่ายขีดจำกัดของการสร้างงานศิลป์ที่สะท้อนภาพชีวิตของคนเราในเวลานี้
- ที่มา: วีโอเอ