งานรำลึกครบรอบเหตุการณ์สึนามิ 20 ปี ที่ประเทศไทย จัดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดี ใกล้กับหมู่บ้านน้ำเค็มในจังหวัดพังงา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงที่สุดในประเทศ
ผู้เข้าร่วมงานทั้งชาวไทยและต่างชาติเดินทางมารำลึกถึงผู้เป็นที่รักที่ล่วงลับหรือสูญหายไป โดยในวันครบรอบนี้มีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลตามความเชื่อของศาสนาพุทธ คริสต์และอิสลาม
ผู้คนหลายร้อยคนเดินทางมาเยี่ยมชมกำแพงสึนามิ อนุสรณ์สถานที่ตั้งอยู่ไม่ไกลออกไปเพื่อระลึกถึงผู้เสียชีวิต ที่มีชื่อจารึกอยู่บนกำแพงนี้
เมื่อ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 แผ่นดินไหวความแรง 9.1 ในทะเลใกล้กับจังหวัดอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย ทำให้เกิดระลอกคลื่นยักษ์พัดขึ้นฝั่งอินโดนีเซีย ไทย ศรีลังกา อินเดีย และประเทศอื่น ๆ อีกเก้าประเทศ คร่าชีวิตราว 230,000 คน และประชาชนมากกว่า 1.7 ล้านคนไม่มีที่อยู่อาศัย
โดเฮอร์ธี หญิงจากสหราชอาณาจักร คือหนึ่งในผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนั้น แต่สูญเสียคู่ชีวิตของเธอและพ่อแม่ของเขาไปในเช้าวันนี้เมื่อ 20 ปีที่แล้ว
เธอเล่าย้อนเหตุการณ์ว่า “เราอยู่ด้วยกันที่ชายหาด จากนั้นเราพยายามวิ่งหนีแต่ไม่เร็วพอ ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก จากนั้นฉันรู้ตัวอีกทีก็อยู่บนต้นไม้และบาดเจ็บหลายที่ ในหัวฉันคิดไม่ออกว่าต้องไปหาใคร ฉันรู้สึกไม่ดีเลย จากนั้นก็มีคนพาฉันไปโรงพยาบาล
ทางด้านอุไร ศิริสุข แม่ที่สูญเสียลูกสาววัย 4 ขวบไปในวันนั้น กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่าไม่อยากที่จะเหยียบแม้กระทั่งน้ำทะเล
“ความรู้สึกเราคิดว่าทะเลมันเอาลูกเราไปไง เราโกรธมันมาก เราไม่สามารถที่จะเอาตีนไปเหยียบแม้กระทั่งน้ำ น้ำทะเลตรงนี้จะไม่เหยียบ ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ลงไปเลย มันคืออะไรที่ดึงหัวใจของเราไป”
Your browser doesn’t support HTML5
ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากสึนามิครั้งนั้น 5,395 ราย แบ่งเป็นคนไทย 2,059 ราย เป็นต่างชาติ 2,436 ราย และสูญหายอีก 2,817 คน อ้างอิงตามศูนย์อำนวยการบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย เมื่อ 11 ตุลาคมปี 2548 โดยจังหวัดพังงามีผู้เสียชีวิตมากที่สุดที่ 4,225 ราย
การประเมินในช่วงนั้นยังเชื่อว่ามีความเสียหายต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวประมาณ 30,000 ล้านบาท
มัลลิกา ‘น้อง’ เกษไธสง จากมูลนิธิการศึกษาเพื่อการพัฒนา (Foundation for Education and Development) เคยเป็นหนึ่งในอาสาสมัครที่ลงมาช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มที่รัฐเข้าถึงได้ยาก เช่นแรงงานข้ามชาติหรือชนกลุ่มน้อย
“ของเราจะอยู่ในโครงการของมูลนิธิกระจกเงา เราตั้ง ศูนย์อาสมัครสึนามิ หรือ Tsunami Volunteer Center จากนั้นเราก็มาช่วยเหลือสร้างบ้าน ของน้องอยู่ในโครงการหมู่บ้านทับตะวัน จากนั้นก็ไปทำงานเรื่องเด็กที่ได้รับผลกระทบทั้งเด็กพม่า เด็กมอแกน เด็กไทย ที่เป็นเหยื่อที่สูญเสียครอบครัว เราเลยไปทำเรื่องศิลปะบำบัดและดนตรี” มัลลิกากล่าว
การรำลึกถึงความสูญเสียมีขึ้นในหลายพื้นที่ตามเส้นทางของคลื่นยักษ์ ในอินโดนีเซีย มีการรำลึกที่จังหวัดอาเจะห์ โดยมีผู้มาร่วมงานจำนวนมาก ทั้งในฐานะผู้รอดชีวิตหรือญาติของผู้ที่ตายหรือสูญหาย
จากจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดทั่วโลก อินโดนีเซียมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 170,000 คน ถือว่ามากที่สุดในเหตุภัยพิบัติครั้งนี้
นูร์คาลิส วัย 52 ปี กล่าวกับรอยเตอร์ว่า ตัวเขาสูญเสียภรรยา ลูก ๆ รวมถึงพ่อแม่ทั้งฝั่งตนเองและฝั่งภรรยา และยังไม่พบศพของคนเหล่านี้แม้แต่คนเดียว
นูร์คาลิสกล่าวขณะมาเยือนสุสานหมู่ว่า “แม้เวลาจะผ่านมานานมาก แต่ความรู้สึกเดิม ๆ ยังหลอกหลอนพวกเราอยู่จนถึงทุกวันนี้ โดยเฉพาะคนที่เสียครอบครัวไปในคราวนั้น”
ที่ศรีลังกาที่มีผู้เสียชีวิตราว 35,000 คนเมื่อ 20 ปีที่แล้ว มีการร่วมกันสงบนิ่งเพื่อไว้อาลัยเป็นเวลาสองนาทีที่อนุสรณ์สถานสึนามิในเมืองกอลล์ เมืองท่องเที่ยวชายทะเลทางตอนใต้ที่อยู่ในเส้นทางของคลื่น
ที่อินเดีย ประชาชนในรัฐทมิฬนาฑูที่เป็นจุดที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด ออกมาจุดเทียนและสวดภาวนาให้กับผู้เสียชีวิตเมื่อสองทศวรรษก่อน
- ที่มา: วีโอเอ, รอยเตอร์