ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ผู้รอดชีวิต-นักรณรงค์ ร่วมสะท้อนบทเรียน 20 ปีคลื่นยักษ์สึนามิปี 2004


ภาพจังหวัดอาเจะห์ อินโดนีเซีย หลังเกิดภัยพิบัติคลื่นสึนามิถล่ม เมื่อเดือนธันวาคมปี 2004
ภาพจังหวัดอาเจะห์ อินโดนีเซีย หลังเกิดภัยพิบัติคลื่นสึนามิถล่ม เมื่อเดือนธันวาคมปี 2004

แผ่นดินไหวความแรง 9.0 ที่ใต้มหาสมุทรอินเดียในวันที่ 26 ธันวาคมปี 2004 นำมาซึ่งคลื่นยักษ์สึนามิซึ่งคร่ากว่า 230,000 ชีวิตใน 15 ประเทศ โดยตัวเลขความสูญเสียสูงที่สุดนั้นมาจากจังหวัดอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย

และแม้เวลาจะผ่านไปถึง 20 ปีแล้ว ร่องรอยของเหตุการณ์ครั้งนั้นยังคงมีให้พบเห็นอยู่ในหลายจุดของจังหวัดอาเจะห์ เช่น เรือประมงที่ถูกคลื่นยักษ์พัดขึ้นฝั่งมาติดอยู่บนบ้านหลังหนึ่งในเมืองบันดาร์อาเจะห์

เรือประมงที่ถูกคลื่นซัดเข้าฝั่งมาเกยบ้านหลังหนึ่งในจังหวัดอาเจะห์ อินโดนีเซีย หลังเกิดเหตุคลื่นสึนามิถล่มเมื่อเดือนธันวาคมปี 2004 ที่กลายมาเป็นอนุสรณ์แห่งความทรงจำของเหตุการณ์ครั้งนั้น
เรือประมงที่ถูกคลื่นซัดเข้าฝั่งมาเกยบ้านหลังหนึ่งในจังหวัดอาเจะห์ อินโดนีเซีย หลังเกิดเหตุคลื่นสึนามิถล่มเมื่อเดือนธันวาคมปี 2004 ที่กลายมาเป็นอนุสรณ์แห่งความทรงจำของเหตุการณ์ครั้งนั้น

มัสยิดราห์มาตุลลาห์ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากชายฝั่งเพียง 500 เมตร คือ สิ่งก่อสร้างเดียวที่ไม่ได้ถูกคลื่นยักษ์ทำลายไปเหมือนกับบ้านเรือนและอาคารอื่น ๆ ในแถบนั้น และแม้จะมีการบูรณะมัสยิดแห่งนี้ขึ้นมาใหม่ มีการอุทิศมุมหนึ่งในอาคารให้แก่ความทรงจำอันโหดร้ายของหายนะครั้งนั้น

ภาพของมัสยิดราห์มาตุลลาห์ ในช่วงการบูรณะ หลังเกิดเหตุคลื่นสึนามิถล่มจังหวัดอาเจะห์ อินโดนีเซียเมื่อเดือนธันวาคมปี 2004
ภาพของมัสยิดราห์มาตุลลาห์ ในช่วงการบูรณะ หลังเกิดเหตุคลื่นสึนามิถล่มจังหวัดอาเจะห์ อินโดนีเซียเมื่อเดือนธันวาคมปี 2004

ซาคาเรีย ชาวเมืองบันดาร์อาเจะห์ บอกกับ วีโอเอ ว่า ภาพความทรงจำนี้คือสิ่งที่มีเอาไว้ให้คนรุ่นใหม่ “เพราะเด็ก ๆ นั้นไม่รู้จักว่า สึนามิคืออะไร เพราะพวกเขาไม่เคยต้องประสบมัน”

อีกด้านหนึ่ง เดลิซา ฟีตริ ราห์มาดานิ คือหนึ่งในผู้ประสบเหตุภัยพิบัติครั้งนั้นที่รอดชีวิตมาและเล่าว่า ในตอนเกิดเหตุนั้น เธอมีอายุ 7 ขวบ โดยมวลคลื่นได้พัดตัวเธอห่างออกไปจากบ้านเป็นระยะทางถึง 8 กิโลเมตรพร้อม ๆ กับคร่าชีวิตสมาชิกในครอบครัวเธอ และทำให้เธอสูญเสียขาข้างหนึ่งไปด้วย

ราห์มาดานิกล่าวว่า ในเวลานั้น เธอรู้สึกกลัวอย่างมาก ไม่ใช่เฉพาะความกลัวคลื่นยักษ์เท่านั้น แต่กลัวแม้กระทั่งพื้นดินที่ยังไหวไม่หยุดตลอดเวลา

เมื่อวันเวลาผ่านไป ราห์มาดานิได้อุทิศตนเป็นนักรณรงค์ด้านการเตรียมความพร้อมรับภัยพิบัติต่าง ๆ

เดลิซา ฟีตริ ราห์มาดานิ ผู้ประสบและรอดชีวิตจากเหตุคลื่นสึนามิถล่มจังหวัดอาเจะห์ อินโดนีเซีย เมื่อเดือนธันวาคมปี 2004
เดลิซา ฟีตริ ราห์มาดานิ ผู้ประสบและรอดชีวิตจากเหตุคลื่นสึนามิถล่มจังหวัดอาเจะห์ อินโดนีเซีย เมื่อเดือนธันวาคมปี 2004

เธอกล่าวว่า สิ่งที่เธอเรียนรู้ก็คือ เมื่อใดก็ตามที่เกิดภัยพิบัติขึ้น จะเกิดภาวะตื่นตระหนกและคนก็จะวิ่งตื่นไปทั่ว แต่สิ่งที่เราสามารถทำได้ก็คือ การวางแผนเตรียมรับไว้ก่อน ซึ่งรวมถึงการจัดตั้งจุดนัดพบเพื่อการอพยพด้วย

ถึงกระนั้น บางคนก็ยังกังวลว่า ที่ผ่านมา ไม่ได้มีการลงมือใด ๆ มากพอเพื่อปรับปรุงระบบการเตรียมความพร้อมของที่นี่

ไรฮัน ลูบิส นักรณรงค์ด้านการเตรียมความพร้อมรับภัยพิบัติ ยกตัวอย่างให้ผู้สื่อข่าววีโอเอว่า โรงเรียนในอาเจะห์ยังไม่ได้บรรจุบทเรียนเรื่องการเตรียมความพร้อมรับภัยพิบัติไว้ แม้เวลาจะผ่านไป 20 ปีแล้วก็ตาม

รายงานข่าวระบุว่า หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมีการจัดกิจกรรมบรรเทาภัยพิบัติเพื่อให้ความรู้กับประชาชนในอาเจะห์อยู่เนือง ๆ แต่ผู้เชี่ยวชาญยังกังวลอยู่ว่า ทั้งหมดนี้ยังไม่เพียงพอ

ภาพผู้รอดชีวิตเหตุคลื่นสึนามิถล่มจังหวัดอาเจะห์ อินโดนีเซีย เมื่อเดือนธันวาคมปี 2004 ขณะขุดเศษซากต่าง ๆ ในวันที่ 31 ธันวาคม 2004
ภาพผู้รอดชีวิตเหตุคลื่นสึนามิถล่มจังหวัดอาเจะห์ อินโดนีเซีย เมื่อเดือนธันวาคมปี 2004 ขณะขุดเศษซากต่าง ๆ ในวันที่ 31 ธันวาคม 2004

รินา ซูร์ยานิ อกตาริ จากศูนย์วิจัยการบรรเทาภัยพิบัติและสึนามิ กล่าวว่า การให้ความรู้ด้านการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัตินั้นจะยั่งยืนมากกว่า หากมีการบูรณาการเข้ากับกิจกรรมต่าง ๆ ที่ดำเนินอยู่ และไม่ใช่เป็นเพียงงาน ๆ เดียวที่คนมักจะลืมไปในที่สุด

และเพื่อป้องกันการสูญเสียครั้งใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นหากมีเหตุภัยพิบัติรุนแรงอีกในอนาคต หน่วยงานบริหารจัดการภัยพิบัติของอาเจะห์ได้จัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการอพยพหนีภัยไว้ เช่น ป้ายบอกทางตามถนน เซฟเฮ้าส์ตามเส้นทางอพยพ รวมทั้ง ตัวเซนเซอร์เตือนภัยล่วงหน้า 10 จุดที่เชื่อมต่อกับระบบไซเรนเตือนภัยสึนามิที่มีอยู่หลายจุดในอาเจะห์ เป็นต้น

ป้ายบอกเส้นทางอพยพหนีภัยคลื่นสึนามิในจังหวัดอาเจะห์ อินโดนีเซีย
ป้ายบอกเส้นทางอพยพหนีภัยคลื่นสึนามิในจังหวัดอาเจะห์ อินโดนีเซีย

แฟดมิ ริดวาน จากหน่วยงานแห่งนี้ กล่าวว่า อย่างน้อย หากเกิดอะไรขึ้นในอนาคต การเตรียมความพร้อมทั้งหมดนี้จะเป็น “โอกาสทอง” ที่ทุกฝ่ายจะได้ใช้ประโยชน์

ทั้งนี้ คำว่า “โอกาสทอง” นั้นหมายถึง ช่วงเวลาระหว่างการเกิดแผ่นดินไหวและการอาจมาถึงของคลื่นสึนามิที่คน ๆ หนึ่งจะใช้เพื่อหลบภัยให้รอดชีวิต โดยผู้เชี่ยวชาญระบุว่า เมื่อปี 2004 นั้น คนในอาเจะห์มีเวลาราว 15-30 นาทีให้ถอยห่างออกจากเส้นทางของคลื่นสึนามิ

และขณะที่ เจ้าหน้าที่ของอาเจะห์รู้สึกว่า การเตรียมความพร้อมทุกอย่างเป็นไปอย่างล่าช้า ทุกฝ่ายยังคงพยายามเดินหน้าทำงานให้บรรลุเป้าหมายของการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยให้ทุกคนสามารถพ้นภัยของคลื่นมรณะครั้งใหม่ในอนาคตต่อไป

  • ที่มา: วีโอเอ

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG