การก้าวเข้าสู่วาระที่ 3 ของการเป็นประธานาธิบดีของ สี จิ้นผิง เกิดขึ้นพร้อมกับการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีมาเป็นหลี่ เฉียง ซึ่งเพิ่งเป็นที่รู้จักมากขึ้นในช่วงเกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 จากการเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการดำเนินมาตรการล็อกดาวน์นครเซี่ยงไฮ้เป็นเวลา 2 เดือน และในฐานะคนสนิทของผู้นำกรุงปักกิ่ง ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์
ก่อนจะก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา หลี่ ยังถูกจดจำได้ว่ามีบทบาทสำคัญในการปฏิรูปตลาดหุ้นครั้งใหญ่ ด้วยการข้ามหัว China Securities Regulatory Commission (CSRC) ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลการซื้อขายหลักทรัพย์ของจีน และทำให้อำนาจของหน่วยงานนี้ลดลงไปด้วย โดยสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้หลายคนตระหนักถึงนิสัยการทำงานแบบเน้นหลักปฏิบัตินิยมและความใกล้ชิดกับปธน.สี ของตัวเขาด้วย
การปฏิรูปตลาดที่ว่านั้นเกิดขึ้นช่วงปลายปี ค.ศ. 2018 เมื่อปธน.สี เปิดตัวตลาดหุ้น STAR Market สำหรับธุรกิจเทคโนโลยีรวมทั้งโครงการนำร่องของระบบการเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ผ่านการลงทะเบียน เพื่อหวังดึงดูดบริษัทใหม่ ๆ ให้เข้ามาซื้อขายในตลาดหุ้นจีนแทนที่จะไปต่างประเทศ แต่นายธนาคารที่คร่ำหวอดในวงการรายหนึ่งซึ่งไม่ขอเปิดเผยตัว บอกกับผู้สื่อข่าวว่า หน่วยงาน CSRC นั้นไม่พอใจอย่างมากเกี่ยวกับแผนงานนี้ที่มีปัจจัยสำคัญคือ ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่าง สี จิ้นผิง และ หลี่ เฉียง ที่ทำให้การผลักดันแผนงานนี้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐบาลกรุงปักกิ่งเกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องผ่านหน่วยงานดังกล่าว
รอยเตอร์สอบถามไปยัง CSRC เพื่อขอความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ไม่ได้รับการติดต่อกลับมาขณะจัดทำรายงานชิ้นนี้
จากตำแหน่งหัวหน้าสาขาเซี่ยงไฮ้ของพรรคคอมมิวนิสต์ก่อนหน้านี้ หลี่ ได้รับการยืนยันจากสภาประชาชนแห่งชาติเมื่อวันเสาร์ให้ขึ้นมาทำหน้าที่บริหารจัดการประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลก แทนที่ หลี่ เค่อเฉียง ที่หลายฝ่ายมองว่า ถูกปธน.สี เขี่ยออกจากตำแหน่ง ขณะเดินหน้ากุมอำนาจบริหารเศรษฐกิจของประเทศไว้ในมือตนเองอยู่
ผู้ที่เฝ้าสังเกตการณ์การเปลี่ยนแปลงตัวผู้นำจีนให้ความเห็นว่า การที่หลี่ใกล้ชิดกับสี มีทั้งข้อดีและข้อเสีย เพราะขณะที่หลี่ได้รับความไว้วางใจจากปธน.จีน ตัวเขาก็ติดหนี้บุญคุญต่อสีเช่นกัน
เทรย์ แมคอาร์เวอร์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษา Trivium China ให้ความเห็นว่า หลี่ เฉียง น่าจะมีอำนาจมากกว่าอดีตนายกรัฐมนตรีคนก่อน ๆ แต่ สี จิ้นผิง ก็ลงทุนใช้ทรัพยากรทางการเมืองไปไม่น้อยเพื่อให้หลี่ในวัย 63 ปีขึ้นมารับตำแหน่งนี้ได้ แม้จะไม่มีประสบการณ์บริหารงานรัฐบาลกลางเท่าใดและยังถูกจดจำในฐานะผู้สั่งการล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้ที่ทำให้ประชาชนออกมาประณามกันมากมายอยู่
ผู้สื่อข่าวติดต่อไปยังสำนักงานสารนิเทศแห่งคณะรัฐมนตรีจีน (State Council Information Office) เพื่อขอความเห็นจากนายกรัฐมนตรีจีนคนใหม่ แต่ก็ไม่ได้รับการตอบกลับมา
นักปฏิบัตินิยม
หลี่ เฉียง ซึ่งมีอาชีพเป็นข้าราชการประจำ ถูกเปิดตัวว่าเป็นตัวเลือกของปธน.สี ให้เตรียมรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนตุลาคมของปีที่แล้ว ขณะที่ชาวจีนรู้จักหลี่ไปแล้วในฐานะผู้ดำเนินแผนงานล็อกดาวน์นครเซี่ยงไฮ้เมื่อช่วงต้นปีที่ทำให้ประชาชนราว 25 ล้านคนต้องถูกตัดขาดจากโลกภายนอก เศรษฐกิจของเมืองหยุดชะงัก และชาวเมืองจำนวนไม่น้อยเกิดแผลเป็นทางจิตใจหลังมาตรการดังกล่าวยุติลง โดยทั้งหมดนี้ ทำให้หลี่กลายมาเป็นเป้าถูกโจมตีจากผู้ที่ยังโกรธแค้นเขาอยู่ แต่ไม่ได้ทำให้เส้นทางการเจริญเติบโตทางอาชีพของเขาสะดุดลงเลย
SEE ALSO: จีนเดินหน้าจับกุม-คุมขัง หลังประชาชนต่อต้านมาตรการคุมเข้มโควิด-19
ถึงกระนั้น รอยเตอร์รายงานว่า หลี่เป็นหนึ่งในผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการทำให้รัฐบาลจีนตัดสินใจยุติการดำเนินนโยบายโควิดเป็นศูนย์อย่างกะทันหันเมื่อปลายปีที่แล้วด้วย
คนที่เคยทำงานร่วมกับหลี่ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า นายกฯ คนใหม่ของจีนนั้นเป็นคนที่มีแนวคิดเน้นการปฏิบัติ เป็นข้าราชการที่มีประสิทธิภาพ และมีจุดยืนสนับสนุนภาคเอกชน ซึ่งล้วนเป็นคุณสมบัติที่ถูกคาดหวังจากผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลภูมิภาคบางแห่งของจีนที่มีพลวัตทางเศรษฐกิจสูง
เครก อัลเลน ประธานสภาธุรกิจสหรัฐฯ-จีน และอดีตเจ้าหน้าที่รัฐบาลจีน กล่าวว่า หลี่เป็นคนประเภทที่พยายามสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ประกอบการธุรกิจทั้งหลาย โดยยกตัวอย่างกรณีที่บริษัทรถยนต์ เทสลา สามารถเปิดโรงงานของตนในนครเซี่ยงไฮ้ได้อย่างรวดเร็วในปี ค.ศ. 2019 พร้อมระบุว่า “ถ้า(หลี่)ตัดสินใจอะไรแล้ว ไม่มีอะไรที่จะหยุดยั้งเขาได้ ... กระบวนการตัดสินใจของเขาก็มีความชัดเจนในตัวเองอยู่ ในฐานะเจ้าหน้าที่ผู้สั่งการ ซึ่งก็ช่วยได้มากอยู่”
ถึงกระนั้น ผู้สังเกตการณ์หลายคนเตือนให้ระวังการให้น้ำหนักต่อประสบการณ์ของหลี่ที่บริหารเพียงเซี่ยงไฮ้มากไป เพราะปธน.สีเดินหน้าคุมพรรคคอมมิวนิสต์และการดูแลเศรษฐกิจไว้อย่างเหนียวแน่น
นีล โธมัส นักวิเคราะห์อาวุโสจาก Eurasia กล่าวว่า “ในเวลานี้ หลี่ มีตำแหน่งเป็นผู้นำระดับประเทศ ที่ทำงานภายใต้หัวหน้าที่มีนิสัยไม่เชื่อใจตลาด ต้องหาทางสร้างสมดุลระหว่างการเจริญเติบโต(ของประเทศ) กับเป้าหมายอันหลากหลายทางสังคม เทคโนโลยี และภูมิรัฐศาสตร์”
ไม่ใช่พวกไม้ประดับ
ประวัติส่วนตัวของนายกฯ หลี่นั้นไม่ได้มีให้ค้นหาอ่านได้ง่ายนัก
รายงานข่าวระบุว่า หลี่ เกิดในพื้นที่เขตรู่เอี๋ยน ซึ่งปัจจุบันคือ เมืองเหวินโจว และในปี ค.ศ. 1976 เมื่อมีอายุได้ 17 ปี เขาเริ่มทำงานที่สถานีชลประทานแห่งหนึ่งที่เมืองบ้านเกิด ก่อนจะเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยเกษตรกรรมเจ้อเจียง ในปี ค.ศ. 1978 ซึ่งเป็นปีแรกที่มหาวิทยาลัยเริ่มเปิดให้นักศึกษาสอบเข้าเรียนได้อีกครั้งและการแข่งขันก็สูงมาก
หลี่ ได้รับปริญญาโทจากสถาบันการศึกษาในกรุงปักกิ่งและจากมหาวิทยาลัยโปลีเทคนิคฮ่องกงด้วย
ที่มณฑลเจ้อเจียงนี่เองที่ปธน.และนายกฯ คนปัจจุบันของจีนได้พบกัน ขณะที่ สี จิ้นผิงดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ของมณฑลอยู่ และ หลี่ เฉียง ทำงานในตำแหน่งหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่พรรคของมณฑลในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 2004 และ 2007 โดยทั้งเริ่มสนิทกันขึ้นมาเรื่อย ๆ นับแต่นั้นมา
โรเบิร์ต ลอว์เรนซ์ คุห์น นักประพันธ์ชาวอเมริกัน ซึ่งพบทั้ง หลี่ และ สี ด้วยกันในปี ค.ศ. 2005 และ 2006 กล่าวว่า ทั้งสองคนให้มีสายสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาก โดยบอกกับรอยเตอร์ว่า “ไม่เหมือนกับเจ้าหน้าที่ของผู้นำระดับสูงส่วนใหญ่ หลี่นั้นไม่ได้เป็นไม้ประดับเลย”
คุห์น ระบุด้วยว่า “เมื่ออยู่ต่อหน้า สี เขา(หลี่)รู้สึกสบาย ๆ และมีความมั่นใจมากพอที่จะเข้ามาพูดคุยกับผม ซึ่งทำให้ผมรู้ว่า เขาไม่ได้กังวลว่า เจ้านายจะคิดว่า เขาพยายามจะขโมยซีนหรืออย่างไร”
อย่างไรก็ดี ผู้ที่เฝ้าดูความสัมพันธ์ของทั้งสองเชื่อว่า หลี่ยังมีข้อจำกัดในด้านสิ่งที่เขาสามารถทำได้อยู่ดี
เฉิน เต้าหยิน อดีตรองศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้ ที่ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่ประเทศชิลีแล้ว ให้ความเห็นว่า “หลี่สามารถทำการซ่อมแซมนู่นนี่ได้ แต่เขาจะไม่สามารถรื้อกำแพงและสร้างอะไรใหม่ขึ้นมาได้เลย”
- ที่มา: รอยเตอร์