ลาวชะลอการสร้างเขื่อน-ตรวจสอบมาตรฐานเขื่อนทั่วประเทศ หลังเหตุการณ์เขื่อนแตก

FILE - The regulating dam of the Nam Theun 2 power dam under construction is pictured in this 28 June 2007 photo, in Lao's Nakai plateau.

Your browser doesn’t support HTML5

ทางการลาวประกาศชะลอการสร้างเขื่อนใหม่และจะตรวจสอบมาตรฐานเขื่อนทั่วประเทศ

รัฐบาลประเทศลาวตัดสินใจระงับการอนุมัติโครงการเขื่อนใหม่ๆ ในตอนนี้ และจะตรวจสอบความปลอดภัยเขื่อนในปัจจุบัน กว่า 50 แห่งหลังจากเกิดเหตุการณ์เขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำพังทลายเมื่อปลายเดือนที่แล้ว

การตรวจสอบมาตรฐานของเขื่อนทั่วประเทศครั้งใหญ่นี้เกิดขึ้นหลังจากเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย พังทลายลง และทำให้น้ำปริมาณ 5 พันล้านลูกบาศก์เมตร ไหลทะลักสู่หมู่บ้านที่เมืองสนามไซ จังหวัดอัตตะปือ

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิตที่ทางการยืนยันแล้วกว่า 30 รายและสูญหายมากกว่า 100 คน ขณะที่คนประมาณ 6,000 คนต้องอพยพออกจากพื้นที่ และมีประชาชนกว่า 100 คนที่ยังสูญหายอยู่

และผู้ที่อยู่ทางตอนเหนือของกัมพูชา ประเทศเพื่อนบ้านของลาว อีก ราว 5,000 คน ต้องย้ายออกจากที่อยู่ของตน เพราะอาศัยอยู่ทางด้านล่างของกระแสน้ำ

A girl uses a mattress as a raft during the flood after the Xepian-Xe Nam Noy hydropower dam collapsed in Attapeu province, Laos

กันยา คำเมืองคูน รองอธิบดีของกระทรวงต่างประเทศลาว กล่าวกับวีโอเอว่า จะมีการตรวจสอบเขื่อนที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันและที่กำลังก่อสร้างอยู่ทั้งหมด

ผู้รอดชีวิตที่เมืองสนามไซ บอกกับวีโอเอว่า เจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลที่ทำให้คนเข้าใจผิดในช่วงเหตุการณ์ขับขัน ไม่กี่ช่วงโมงก่อนเขื่อนแตก

ตัวแทนของหนึ่งในบริษัทร่วมทุนของโครงการ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการเกาหลีใต้ SK Engineering and Construction ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็น เมื่อถูกถามหลายครั้งที่ศูนย์บรรเทาทุกข์ ที่เมืองสนามไซ

ที่งานแถลงข่าวเมื่อวันอังคาร รัฐมนตรี คำมะนี อินทิลาด ของกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ของลาว กล่าวว่า การก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน และฝนที่ตกหนักอย่างไม่คาดคิด ทำให้เขื่อนพังทลายในครั้งนี้ ตามรายงานของสื่อ Laotian Times

Maureen Harris ผู้อำนวยการโครงการ International River แห่งภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า การตัดสินใจระงับโครงการใหม่และตรวจสอบโครงการที่กำลังก่อสร้างช่วยส่งสัญญาณทางบวก

อย่างไรก็ตาม เธอบอกว่ากระบวนการต่อไปจากนี้ต้องมีความโปร่งใสและให้ผู้เชี่ยวชาญอิสระมีบทบาทในการตรวจสอบด้วย นอกจากนั้นทางการควรปรึกษาชุมชนท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบ เพื่อที่จะได้ข้อมูลที่ขณะนี้ยังไม่มีใครทราบหลายเรื่องเกี่ยวกับเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย

เธอกล่าวด้วยว่า แม้เขื่อนที่กำลังอยู่ในขั้นเตรียมการอีกหลายสิบแห่งก็ควรได้รับการตรวจสอบมาตรฐานเช่นกัน

(รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียงจากรายงานของ David Boyle)