Your browser doesn’t support HTML5
การประท้วงของกลุ่มเยาวชนและนักศึกษาในประเทศไทยได้รับความสนใจและถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดจาก netizen หรือผู้ใช้และผู้ติดตามข่าวสารทางอินเตอร์เน็ตในประเทศลาว และทำให้เกิดแฮชแท็ก #ຖ้າການເມืອງລາວດี (if Lao Politics was good) หรือ "ถ้าการเมืองของลาวดี"
โดยชาวลาวที่ติดตามข่าวสารการเมืองของไทยทางโซเชียลมีเดียได้แสดงความสนับสนุนต่อผู้ประท้วงในไทยและได้สร้าง #ຖ้າການເມืອງລາວດี เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่จะเห็นได้ไม่บ่อยนักสำหรับการชี้ถึงปัญหาและความผิดพลาดในการบริหารงานของรัฐบาลลาว เพราะผู้ที่ออกมาเรียกร้องเรื่องปัญหาคอร์รัปชั่น ความยากจนและปัญหาสังคมต่างๆ มักจะถูกทางการจับกุม
การแสดงความเห็นทางการเมืองผ่านทวิตเตอร์ในลาว
ผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งที่มีชื่อว่า emergen ทวีตข้อความเป็นภาษาอังกฤษว่า รัฐบาลไม่ควรดูถูกสติปัญญาของเยาวชน เพราะเรารู้ทุกอย่างแต่ไม่สามารถพูดออกมาได้ดัง ๆ เท่านั้นเอง
ส่วนเจ้าของบัญชีทวิตเตอร์ที่ใช้ชื่อว่า zero ก็บอกว่า การประท้วงในประเทศไทยช่วยกระตุ้นให้คนหนุ่มสาวของลาวออกมาแสดงความเห็นเช่นกั นและรัฐบาลลาวก็ช่วยเตือนเราว่าเราไม่สามารถทำได้ เพราะมิฉะนั้นเราอาจจะต้องติดคุกหรือถูกตัดสินประหารชีวิต
ขณะที่ผู้ใช้ทวิตเตอร์อีกรายชี้ว่า ถ้าการเมืองดีเราก็จะมีเสรีภาพของการแสดงออกและไม่ต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ โดยไม่กล้าเปิดตัวเองอย่างที่เป็นแบบนี้ ส่วนผู้ใช้ทวิตเตอร์ในนามว่า GrumpyG ก็ให้ความเห็นเช่นกันว่า เรากำลังต่อสู้เพื่ออนาคตของคนรุ่นใหม่ของเรา และฉันหวังว่ารัฐบาลลาวจะยอมรับฟัง
จนถึงเมื่อวันศุกร์ที่ 23 ตุลาคม มีการทวีตข้อความหลายแสนข้อความภายใต้ #ຖ้າການເມืອງລາວດี ที่ว่านี้ ซึ่งก็รวมถึงการพิพากวิจารณ์เกี่ยวกับการใช้จ่ายภาษีในทางที่ไม่ควร ความพินาศย่อยยับของทรัพยากรของประเทศ ช่องว่างทางเศรษฐกิจ รวมทั้งปัญหาด้านการศึกษาซึ่งโรงเรียนของรัฐบาลขาดงบประมาณสนับสนุน ในขณะที่ชนชั้นผู้นำส่งลูกหลานของตนไปเรียนในต่างประเทศ เป็นต้น
เสียงตอบโต้จากผู้เห็นต่าง
อย่างไรก็ตาม มีผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้เช่นกัน เช่น ผู้ใช้ Facebook คนหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า Lao Patriotism หรือผู้รักชาติลาว กล่าวหาว่าผู้ใช้ทวิตเตอร์ที่ออกมาแสดงความเห็นนี้ส่วนใหญ่ล้วนอยู่ในต่างประเทศและเป็นกลุ่มต่อต้านรัฐบาลที่พยายามก่อความไม่สงบขึ้น
ส่วนผู้ใช้ Facebook อีกรายที่มีชื่อว่า Vongvichit Poti ก็เตือนว่าไม่ควรเปรียบเทียบลาวกับไทย และว่าลาวมีเสถียรภาพมั่นคงทางการเมือง โดยประชาชนลาวก็มีเอกภาพและสามัคคีกันดีโดยไม่มีการแบ่งพรรคแบ่งฝ่าย ดังนั้นจึงไม่ควรยุ่งกับการเมืองของลาว
ถึงกระนั้นก็ตาม ตามรายงานของผู้สื่อข่าว Radio Free Asia มีชาวลาวบางคนที่เห็นว่าผู้คนควรมีสิทธิ์แสดงความกังวลเรื่องนี้ถึงแม้จะไม่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลก็ตาม และว่า การประท้วงในประเทศไทยช่วยสร้างบทเรียนเรื่องประชาธิปไตยและเสรีภาพของการแสดงออกซึ่งประเทศที่เป็นประชาธิปไตยควรจะมี และว่าชาวลาวก็ควรสามารถเข้าร่วมตัดสินใจเรื่องการพัฒนาประเทศด้วยเช่นกัน
ส่วนชาวลาวอีกคนหนึ่งซึ่งไม่อยากเปิดเผยนาม บอกว่าประชาชนลาวได้เห็นตัวอย่างของไทยว่าผู้นำทำการปราบปรามประชาชนในหลายรูปแบบ ซึ่งเรื่องนี้ก็ทำให้เกิดความรู้สึกเห็นอกเห็นใจในหมู่คนลาว และว่า เราควรจะค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงและเปิดรับสิ่งที่เกิดขึ้นในโลก เพราะประเทศลาวไม่สามารถต้านทานกระแสโลกาภิวัตน์และไม่สามารถอยู่อย่างโดดเดี่ยวต่อไปได้
คนลาวรุ่นใหม่รับข้อมูลจากสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น
ตามข้อมูลที่รวบรวมโดยเว็บไซต์ www.laoconnection.com นั้น จนถึงต้นปีนี้มีผู้ใช้โซเชียลมีเดียในประเทศลาวกว่า 3 ล้านคน หรือประมาณ 40% ของประชากร
และข้อมูลจากการสัมภาษณ์ของ Radio Free Asia เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาก็แสดงว่าชาวลาวจำนวนมากไม่สนใจรับข่าวสารจากสื่อของทางการ และหันไปเลือก YouTube Facebook รวมทั้งสถานีโทรทัศน์ของไทยเป็นแหล่งข้อมูลแทน
ชาวลาวที่กรุงเวียงจันทน์คนหนึ่งให้เหตุผลว่า สื่อมวลชนของทางการลาวนั้นทำงานช้าและไม่ทันต่อเหตุการณ์