กลุ่มคนไทย ที่มีความเห็นต่างทางการเมือง เผชิญหน้าและปะทะคารมกันบริเวณหน้าอาคารที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตไทย ในกรุงวอชิงตัน ระหว่างการจัดกิจกรรมชุมนุมเชิงสัญลักษณ์เพื่อประท้วงการใช้กำลังสลายการชุมนุมกลุ่มนักศึกษาและประชาชนในกรุงเทพฯ เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
ก่อนหน้านี้กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า แนวร่วมคนไทยในกรุงวอชิงตันและรัฐใกล้เคียง ได้นัดหมายรวมตัว เมื่อวันอังคาร ที่ 20 ต.ค. ที่ผ่านมา เพื่อร่วมแสดงจุดยืนร่วมกับกลุ่มผู้ชุมนุมในประเทศไทย ด้วยการจัดทำป้ายแสดงความเห็นทางการเมือง และอ่านแถลงการณ์ประณามการกระทำรุนแรงของรัฐบาลไทยต่อกลุ่มผู้ชุมนุม แต่ระหว่างที่มีการจัดกิจกรรม มีกลุ่มคนไทยอีกกลุ่มที่มีความเห็นต่าง รวมตัวเดินทางด้วยรถจักรยานยนต์มาที่จุดเดียวกัน จนเกิดการเผชิญหน้าและการโต้เถียง
แม้จะมีการปะทะคารมที่ร้อนแรง แต่ไม่ได้เกิดเหตุการณ์รุนแรงบานปลาย โดยทั้งสองฝ่ายได้พยายามพูดคุยทำความเข้าใจและยินยอมให้แต่ละฝ่ายได้แสดงจุดยืนและความเห็นของตัวเอง
ตัวแทนผู้เข้าร่วมชุมนุม บอกกับวีโอเอ ไทย ว่าพวกเขาพยายามที่จะแสดงจุดยืนความไม่เห็นด้วยกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้ชุมนุมในประเทศไทย
“เราไม่เห็นด้วยกับการที่ใช้ความรุนแรง สลายการชุมนุมผู้ที่ออกมาเรียกร้องเพื่อประชาธิปไตยของคนไทย รวมถึงในเรื่องการปิดสื่อ เพราะเชื่อว่าทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย ควรได้รับการสื่อสารจากช่องทางต่างๆปกติ โดยที่ไม่มีการปิดกั้นใด รวมถึงความรุนแรงที่เรารับไม่ได้เลยตรงนี้ อยากจะให้รัฐบาลฟังเสียงเรียกร้องของประชาชน เยาวชน นักศึกษาทุกท่าน ว่าเขามาเรียกร้องเรื่องอะไรกัน” หนึ่งในผู้ชุมนุม บอกกับวีโอเอ ไทย
ดุษฎี บุญหลง ชาวไทยแถบในกรุงวอชิงตัน ที่ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับผู้ชุมนุม บอกว่า ที่ผ่านมาการเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมบางส่วนพยายามก้าวล่วงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงต้องการออกมาแสดงจุดยืนเพื่อปกป้องสถาบันฯ
“แต่ถ้าจะแก้ปัญหา แก้ให้ตรงจุด แต่ตอนนี้มันกระจายวงกว้างไปมาก ดึงสถาบันฯลงมา มันก็เลยทำให้วุ่นวายกันหมด ผมก็แค่ว่าเราแค่มาโพรเท็ค (ปกป้อง) แสดงความรู้สึกของทุกคน คือตอนนี้มันมีกลุ่มหนึ่งที่ไม่ชอบรัฐบาลแล้วก็ดึงสถาบันฯลงมาอยู่ในเกมส์ตรงนั้นด้วย ซึ่งผมไม่เห็นจะมีประโยชน์อะไรเลย ถ้าคุณจะประท้วงรัฐบาลก็ประท้วงไปก็แก้ไขตรงนั้นกันไป แต่ไม่ควรที่จะดึงสถาบันลงมา พวกผมมาแค่ปกป้องสถาบันฯ อย่ามาแตะต้องในสถาบันของที่พวกเราเติบโตมาและเคารพมา”
ขณะที่ ชลิดา เจริญสุข ผู้ชุมนุมที่ร่วมอ่านแถลงการณ์ บอกว่าการหาจุดร่วมและพยายามเข้าใจในจุดยืนของแต่ละฝ่ายน่าจะเป็นทางออกที่จะอยู่ร่วมกันได้
“เราก็เกิดมาอยู่ในเจนเนอร์เรชั่น (ยุคสมัย) เดียวกับพวกเขาเหมือนกัน ก็เข้าใจที่มา แนวคิด ความคิดของพวกเขาที่มาในวันนี้ และเราก็อยากบอกว่าเราเป็นคนไทยเหมือนกันก็น่าจะพูดคุยกันได้ ถึงเขาจะมาด้วยอารมณ์ แต่ถ้าเราตอบด้วยเหตุผลได้ ถ้าเขาฟังเราด้วยเหตุผลได้ ก็น่าจะหาจุดร่วมที่จะเดินต่อไปในสังคมได้เราไม่อยากให้ภาวะของความไม่เข้าใจกันของคนละรุ่นเนี่ย มันห่างกันไปมากกว่านี้แล้ว”
เช่นเดียวกับผู้ร่วมชุมนุมที่เป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงวอชิงตัน ก็ยอมรับถึงความเห็นที่แตกต่าง และยินดีที่จะพูดคุยและทำความเข้าใจ
“ผมก็คิด และเข้าใจว่า พวกเขาก็มีความรู้สึกที่ค่อนข้างที่จะ passionate (เชื่อมั่นอย่างแรงกล้า)เกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาเชื่อ พวกเขาก็มีสิทธิ์เหมือนกันที่จะมา เราก็ต้องมีการเจรจากัน เมื่อกี้ก็โชคดีที่ไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น อาจจะมีอารมณ์ โทสะ อะไรกันบ้าง มีการตะโกนกันบ้าง แต่รวมๆแล้ว คนไทยเหมือนกันก็พอคุยกันได้”
“เขามาด้วยความกังวลใจว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมันจะไปกระทบกระเทือนจิตใจเขาในสิ่งที่เขาไม่ต้องการหรือเปล่า แต่สุดท้ายที่เราคุยกัน มันก็จบลงที่ เราไม่ได้ไปทำในสิ่งที่เขาคิดว่าเราจะกระทำ และเราก็แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่เราทำไม่ใช่สิ่งที่เขาคิด”
ด้าน เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครรราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน เปิดเผยกับวีโอเอ ไทย เกี่ยวกับเหตุการณ์การเผชิญหน้าของกลุ่มคนไทยทั้งสองกลุ่ม ว่า ทางสถานทูตฯ ไม่ได้รับแจ้ง หรือรับการประสานล่วงหน้าว่าจะมีการเดินทางชุมนุม ในวันเวลาดังกล่าวแต่อย่างใด ขณะเดียวกันยังเป็นช่วงนอกเวลาราชการ และได้ปิดทำการไปแล้ว แต่อย่างไรก็ตามเมื่อได้ทราบข่าวก็ได้ติดตามอย่างใกล้ชิดและทราบว่าไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้น
ตลอดในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนไทยหลายเมืองใหญ่ของสหรัฐฯ ที่ออกมาแสดงจุดยืนร่วมกับผู้ประท้วงในประเทศไทย ทั้งในนครลอส แอนเจลิส นครซาน ฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย รวมทั้งที่นครชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ หรือ ที่นครนิวยอร์ก ที่มีการจัดกิจกรรมตั้งแต่เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมไปถึงกลุ่มชาวไทยในนครบอสตัน รัฐแมสซาชูเซสท์ที่ออกมาชุมนุมแสดงจุดยืนทางการเมืองในประเทศไทยเช่นกัน