ไทยกังวล ลาวเตรียมสร้าง ‘เขื่อนภูงอย’ กั้นแม่น้ำโขง

FILE PHOTO: A general view of the future site of the Luang Prabang dam is seen on the Mekong River outskirt of Luang Prabang province

สำนักข่าว RFA รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า ลาวกำลังเตรียมสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงเขื่อนที่เจ็ด จากที่วางแผนไว้ทั้งหมดเก้าเขื่อน โดยโครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจของลาวที่มุ่งเป้าเป็น “แบตเตอรี่แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

โครงการเขื่อน “ภูงอย” นี้มีกำลังผลิตติดตั้ง 728 เมกะวัตต์ มีกำหนดก่อสร้างเสร็จในปีค.ศ. 2029 และจะร่วมผลิตไฟฟ้ากับเขื่อนไซยะบุรี เขื่อนดอนสะโฮง ที่ผลิตกระแสไฟฟ้าอยู่ในปัจจุบัน และเขื่อนปากแบง เขื่อนปากเลย์ เขื่อนหลวงพระบาง และเขื่อนสานะคาม ที่ยังอยู่ในขั้นตอนการวางแผนก่อสร้าง โดยหลังมีการก่อสร้างเขื่อนภูงอยแล้ว จะมีการก่อสร้างเขื่อนบานชมและเขื่อนบานกุมอีก

เจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงานและบ่อแร่ ในแขวงจำปาศักดิ์ ทางตอนใต้ของลาว บอกกับสำนักข่าว RFA ภาคภาษาลาวเมื่อวันที่ 23 ธันวาคมว่า เพิ่งมีการอนุมัติการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสังคมเบื้องต้นของโครงการเขื่อนภูงอย อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องมีการศึกษาโครงการนี้อีกมาก โดยยังไม่มีการวางแผนถึงการอพยพชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ว่าจะอพยพพวกเขาไปที่ไหน และจะอพยพเมื่อใด

เจ้าหน้าที่ที่ขอสงวนนามคนดังกล่าว ยังระบุด้วยว่า เขื่อนภูงอยนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาทางยุทธศาสตร์ของรัฐบาลลาว และรัฐบาลมุ่งมั่นจะเดินหน้าสร้างเขื่อนต่อไป

เขายังกล่าวด้วยว่า โครงการสร้างเขื่อนนี้ยังไม่ถูกส่งไปยังคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงเพื่อเข้ากระบวนการแจ้งปรึกษาหารือล่วงหน้าและหาข้อตกลง หรือกระบวนการ PNPCA เนื่องจากการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสังคมโดยละเอียดนั้นยังไม่เสร็จสิ้น

เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวระบุว่า ลาวได้ส่งโครงการสร้างเขื่อนสานะคามเพื่อเข้ากระบวนการ PNPCA ไปเมื่อเดือนพฤษภาคม และคาดว่าจะหาข้อตกลงได้ภายในกลางปีนี้ โดยหลังจากนั้นจะมีการส่งโครงการสร้างเขื่อนใหม่ๆ ไปอีกเพื่อเข้ากระบวนการดังกล่าว


“เราไม่อยากย้ายบ้าน”

ชาวบ้านที่อาศัยในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ บอกกับสำนักข่าว RFA ว่าพวกเขาต่อต้านเขื่อนแม่น้ำโขงที่จะสร้างอีกเขื่อนนี้

ชาวบ้านคนหนึ่งในหมู่บ้านขอนแก่น เมืองจำปาศักดิ์ แขวงจำปาศักดิ์ บอกกับทาง RFA ว่า ทางการทำแบบสอบถามเพื่อถามชาวบ้านเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ร้านค้า และต้นผลไม้ของพวกเขา เขายังไม่เคยได้ยินเรื่องการอพยพ และพวกเขาไม่อยากย้ายบ้าน เพราะไม่รู้ว่าจะถูกย้ายไปที่ไหน พวกเขาอยู่ที่นี่มานานหลายชั่วอายุคนแล้ว และพวกเขาเชื่อว่าที่นี่คือบ้านถาวรของพวกเขา

ทั้งนี้ ชาวบ้านที่ต้องพยพจากการสร้างเขื่อนก่อนหน้านี้หลายคน มีฐานะยากจนลง ทำให้ชาวบ้านในหมู่บ้านขอนแก่นกังวลถึงคุณภาพชีวิตหากต้องย้ายบ้าน

ชาวบ้านในหมู่บ้านขอนแก่นส่วนใหญ่เป็นชาวนาและเกษตรกรปลูกผัก ทำปศุสัตว์ ชาวบ้านบางส่วนทำกิจการขนาดเล็ก เช่น เปิดร้านอาหาร ทำที่พักต้อนรับนักท่องเที่ยวซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนไทย

พวกเขากังวลว่าเขื่อนจะทำให้เกิดน้ำท่วมสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในท้องถิ่น คือแก่งต่างๆ ในแม่น้ำโขง และทำให้น้ำท่วมชายหาดบริเวณฝั่งแม่น้ำ

ทั้งนี้ ชาวบ้านทั้งหมู่บ้านอาจต้องอพยพออกไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อบ้านเรือน 142 หลังคาเรือน หรือชาวบ้านราว 811 คน

ชาวบ้านในเมืองจำปาศักดิ์อีกคน บอกกับทาง RFA ว่า ชาวบ้านจำนวนมากขอให้รัฐบาลทบทวนการสร้างเขื่อนภูงอยอีกครั้ง โดยชาวบ้านคนดังกล่าวบอกว่า รัฐบาลลาวสร้างเขื่อนเหล่านี้เพื่อสร้างเงิน แต่เขื่อนภูงอยจะทำลายธรรมชาติอันสวยงามและบ้านเรือนของพวกเขา

โครงการเขื่อนภูงอย มูลค่า 2,400 ล้านดอลลาร์นี้ จะกระทบพื้นที่กว่า 220,000 ตารางเมตร หมู่บ้าน 88 หมู่บ้านในเจ็ดเมือง โดยหมู่บ้านขอนแก่นจะได้รับผลกระทบมากที่สุด

แม้จะยังไม่มีการลงนามในสัญญาซื้อขายพลังงาน บริษัทสัญชาติเกาหลีใต้สองบริษัท ได้แก่ บริษัท Doosan Heavy Industries & Construction และบริษัท Korea Western Power ได้รับการติดต่อให้ก่อสร้างเขื่อนนี้ในช่วงปี ค.ศ.2022-2029 โดยจะเป็นการร่วมกับบริษัท เจริญเอ็นเนอร์ยี่ แอนด์ วอเทอร์ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับรัฐบาลไทยและรัฐบาลลาว


ความกังวลจากทางฝั่งไทย

เนื่องจากแม่น้ำโขงเป็นพรมแดนโดยธรรมชาติระหว่างไทย-ลาว โดยมีความยาวครึ่งหนึ่งจากพรมแดนทั้งหมด 1,845 กิโลเมตร ชาวไทยที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการนี้ก็แสดงความไม่พอใจเช่นกัน

สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สนทช. บอกกับทาง RFA ว่า ทางหน่วยงานจับตามองโครงการนี้อย่างใกล้ชิด โดยทางบริษัทยังไม่ได้ส่งข้อมูลทั้งหมดมาให้ยัง สนทช. และหลังจากโครงการเขื่อนสานะคามเสร็จสิ้นจากกระบวนการ PNPCA แล้ว ทาง สนทช. จะพิจารณาโครงการเขื่อนภูงามต่อไป เนื่องจากเขื่อนนี้อาจทำให้น้ำท่วมมายังฝั่งไทย

สมเกียรติระบุว่า เขื่อนภูงามอยู่ห่างจากเมืองปากเซ เมืองเอกของแขวงจำปาศักดิ์เพียง 18 กิโลเมตร โดยมีประชาชนในเมืองปากเซกว่า 100,000 คน เขื่อนนี้ยังอยู่ห่างจากจุดที่แม่น้ำมูลและแม่น้ำโขงเชื่อมต่อกันในจังหวัดศรีสะเกษเพียง 50 กิโลเมตรด้วย

ทั้งนี้ ลาวได้ก่อสร้างเขื่อนพลังงานหลายสิบเขื่อนบนแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขาย่อย ภายใต้วิสัยทัศน์ “แบตเตอรี่แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” โดยตั้งเป้าหมายท้ายสุดที่จะสร้างเขื่อนเพิ่มอีกเพื่อส่งออกกระแสไฟฟ้าจากเขื่อนไปยังประเทศอื่นในภูมิภาค

แม้รัฐบาลลาวจะเห็นว่า การผลิตกระแสไฟฟ้าจะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้ แต่โครงการสร้างเขื่อนก็เป็นที่ถกเถียงเนื่องจากมีผลกระทบถึงสิ่งแวดล้อม ทำให้ชาวบ้านต้องพลัดถิ่นโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนตามสมควร รวมทั้งยังมีคำถามถึงการจัดการความต้องการทางพลังงานและความต้องการทางการเงินอีกด้วย