จีนลังเลใช้มาตรการตัดขาดส่ง 'น้ำมัน' ให้เกาหลีเหนือ หวั่นสั่นคลอนเสถียรภาพผู้นำ 'คิม'

FILE - A crude oil importing port in Qingdao, Shandong province, China.

Your browser doesn’t support HTML5

จีนลังเลใช้มาตรการตัดขาดส่ง 'น้ำมัน' ให้เกาหลีเหนือ

เวลานี้สหประชาชาติกำลังพิจารณามาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจชุดใหม่ต่อเกาหลีเหนือ หลังจากเกาหลีเหนือทดลองอาวุธนิวเคลียร์เมื่อไม่กี่วันที่แล้ว ซึ่งคาดการณ์ว่าอาจเป็นการตัดขาดการส่งน้ำมันให้แก่เกาหลีเหนือ

ทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ นิกกี้ เฮลลีย์ กล่าวระหว่างการประชุมฉุกเฉินของคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ เมื่อวันจันทร์ว่า สหรัฐฯ กำลังพิจารณามาตรการลงโทษขั้นรุนแรงที่สุด เพื่อนำมาใช้กับเกาหลีเหนือ โดยสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคง 15 ประเทศ จะหารือในสัปดาห์นี้และลงมติในวันจันทร์หน้าว่ามาตรการที่นำมาใช้นั้นคืออะไร

United Nations Ambassadors Vasily Nebenzya of Russia, left, Liu Jieyi of China, center, and Nikki Haley of the U.S., right, confer after the United Nations nonproliferation meeting on North Korea, Sept. 4, 2017 at U.N. headquarters.

เมื่อเดือนที่แล้ว สหประชาชาติเพิ่งมีมติให้ลงโทษเกาหลีเหนือ หลังจากที่เกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธ 2 ครั้งเมื่อเดือน ก.ค. โดยในครั้งนั้นมุ่งเป้าไปที่การลดรายได้ของกรุงเปียงยางผ่านการคว่ำบาตรอุตสาหกรรมหลัก 4 อย่างของเกาหลีเหนือ คือ ถ่านหิน เหล็ก ตะกั่ว และอาหารทะเล

แต่ดูเหมือนสิ่งที่ยังไม่ถูกแตะต้อง คือน้ำมัน และเชื้อเพลิงต่างๆ ที่เกาหลีเหนือต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งเชื่อว่าสหรัฐฯ กำลังเล็งที่จะตัดขาดเกาหลีเหนือในส่วนนี้

ร่างข้อเสนอของสหรัฐฯ เกี่ยวกับมาตรการลงโทษชุดใหม่ เรียกร้องให้มีการห้ามขายน้ำมันให้กับเกาหลีเหนือ รวมทั้งผลผลิตทางปิโตรเลียมอื่นๆ และแก๊สธรรมชาติเหลว

อย่างไรก็ตาม การที่จะใช้มาตรการดังกล่าวนั้น ต้องได้รับการสนับสนุนจากจีนและรัสเซีย ในฐานะสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ และยังเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ให้แก่เกาหลีเหนือด้วย

Russian President Vladimir Putin, left, and his South Korean counterpart Moon Jae-in smile chating after signing ceremony at the Eastern Economic Forum in Vladivostok, Russia, on Wednesday, Sept. 6, 2017.

ในส่วนของรัสเซียนั้น ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน มีท่าทีชัดเจนว่าไม่ต้องการให้มีการคว่ำบาตรการส่งน้ำมันให้แก่เกาหลีเหนือ และยังต่อต้านการใช้มาตรการลงโทษอื่นๆ เพิ่มเติม โดยบอกว่าเกาหลีเหนือยอม “กินหญ้า” มากกว่าจะยอมยกเลิกโครงการนิวเคลียร์

แต่สำหรับผู้นำจีน ยังคงมีท่าทีลังเลในเรื่องนี้ มีเพียงแค่การเน้นย้ำจุดยืนเดิมที่ต้องการให้มีการเจรจาอย่างสันติกับกรุงเปียงยางมากกว่า

คุณโจเซฟ เดทรานี อดีตผู้แทนพิเศษในการเจรจาหกฝ่ายกับเกาหลีเหนือ กล่าวกับ VOA ภาคภาษาเกาหลีว่า หากจีนตัดขาดการส่งน้ำมัน จะส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อเกาหลีเหนือ ซึ่งอาจนำไปสู่การล่มสลายของระบอบการปกครองที่เปราะบางในกรุงเปียงยางได้

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ผู้นี้เชื่อว่าจีนไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะจีนไม่ต้องการสร้างความบาดหมางกับเกาหลีเหนือ นอกจากนี้ทั้งสองประเทศยังมีพันธะผูกพันกันภายใต้สนธิสัญญาความร่วมมือและการช่วยเหลือกันในฐานะพันธมิตร ซึ่งจัดทำขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1961

Trucks drive on the Friendship Bridge over the Yalu River which connects North Korea's Sinuiju to China's Dandong, April 11, 2013.

ด้านนายริชาร์ด บุช นักวิชาการแห่งสถาบัน Brookings กล่าวว่า จีนกำลังอยู่บนทางเลือกตรงกลาง ระหว่างการใช้มาตรการลงโทษเกาหลีเหนือ เพื่อสั่งสอนให้เพื่อนบ้านผู้นี้อยู่ภายใต้การควบคุมของกรุงปักกิ่ง

แต่อีกด้านหนึ่ง จีนก็ต้องการทำให้ระบบผู้นำคิม จอง อึน สามารถดำรงอยู่ได้ในฐานะรัฐกันชนระหว่างจีนกับเกาหลีใต้ซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ และหากเกาหลีเหนือเกิดการล่มสลาย ก็หมายความว่าจะมีผู้ลี้ภัยจำนวนมากจากเกาหลีเหนือที่ข้ามพรมแดนทะลักเข้ามาในจีน

นักวิเคราะห์ผู้นี้เชื่อว่า จีนอาจเลือกให้วิธีที่ยืดหยุ่น เช่นการกำหนดเพดานน้ำมันที่เกาหลีเหนือสามารถนำเข้าได้โดยไม่จำเป็นต้องห้ามนำเข้าทั้งหมด เพราะเชื่อว่าในที่สุดแล้ว จีนไม่ต้องการทำตามคำสั่งของสหรัฐฯ อย่างเต็มตัว แต่ก็ไม่ต้องการปฏิเสธความกังวลของประชาคมโลกที่มีต่อภัยคุกคามจากนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือเช่นกัน

(ผู้สื่อข่าว Jenny Lee / Margaret Besheer รายงาน – ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)