หลังสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 ขึ้นครองราชย์อย่างเป็นทางการภายหลังเสร็จสิ้นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันเสาร์นี้ ทหารอังกฤษจะนำธงชาติของบาฮามาส แอฟริกาใต้ ตูวาลู และประเทศที่เคยอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษ มาร่วมเดินสวนสนามเพื่อร่วมฉลองงานใหญ่นี้ ซึ่งบางคนอาจมองว่า เป็นการตอกย้ำความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษและอดีตอาณานิคมทั้งหลาย แต่หลายคนที่อยู่ในประเทศเครือจักรภพกลับแสดงอาการไม่แยแสการเปลี่ยนแปลงภายในราชวงศ์วินด์เซอร์นี้เลย ตามรายงานของสำนักข่าวเอพี
สำหรับประเทศอดีตเมืองขึ้นอังกฤษ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบ็ธที่ 2 เมื่อ 70 ปีก่อน เป็นช่วงเวลาที่สะท้อนภาพของการกดขี่และอดีตของการล่าอาณานิคมเปื้อนเลือด แต่ในครั้งนี้ พิธีดังกล่าวจะเป็นการตอกย้ำเสียงเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ในแถบทะเลแคริบเบียนตัดสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับราชวงศ์อังกฤษเสียที
สาธุคุณ ฌอน เมเจอร์-แคมป์เบลล์ นักบวชคริสต์นิกายแองกลิคัน ในกรุงคิงส์ตัน ประเทศจาเมกา กล่าวว่า “ความสนใจในพระราชวงศ์อังกฤษนั้นหดหายไปตั้งแต่เมื่อชาวจาเมกาเริ่มตื่นมารับรู้ความเป็นจริงว่า ผู้ที่รอดชีวิตจากยุคล่าอาณานิคมและความหายนะของระบบทาสนั้นยังไม่ได้รับความยุติธรรมเพื่อชดเชย[สิ่งที่สูญเสียไป]” และว่า พระราชพิธีนี้ “ยึดโยงกับพวกเราก็เพียงตรงที่ว่า มันทำให้เรารับรู้ถึงความจริงว่า ประมุขแห่งรัฐของเรานั้นมีตัวตนอยู่ได้เพียงเพราะอานิสงส์ทางชีวเท่านั้น”
ในฐานะกษัตริย์แห่งอังกฤษ สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐของ 14 ประเทศอื่น ๆ ด้วย แม้ว่าจะเป็นแต่เพียงทางพิธีการเท่านั้นก็ตาม ขณะที่ ประเทศเหล่านี้ เช่น ออสเตรเลีย แคนาดา และจาเมกา เป็นเพียงส่วนน้อยของประเทศในกลุ่มเครือจักรภพ 56 ประเทศ ที่ส่วนใหญ่มีฐานะเป็นสาธารณรัฐ
บาร์เบโดส คือ ประเทศในเครือจักรภพประเทศล่าสุดที่ถอดกษัตริย์อังกฤษออกจากฐานะประมุขแห่งรัฐของตน และแทนที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบ็ธที่ 2 ด้วยประธานาธิบดีที่ชนะการเลือกตั้งในปี ค.ศ. 2021 ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ก่อแรงกระเพื่อมให้เกิดการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการทำการเช่นเดียวกันในประเทศใกล้เคียง เช่น จาเมกา บาฮามาส และเบลีซ เป็นต้น
โรซาเลีย แฮมิลตัน นักเคลื่อนไหวที่เรียกร้องให้มีการถอดเจ้าของจากรัฐธรรมนูญของจาเมกา เปิดเผยว่า เธอเตรียมจัดการประชุมในวันงานพระราชพิธีเพื่อเชิญชวนชาวจาเมกาให้มีส่วนร่วมในการปฏิรูปทางการเมืองของประเทศ และกล่าวว่า กำหนดการจัดงานนี้ “ส่งสัญญาณให้ประมุขแห่งรัฐรับทราบว่า สิ่งที่มีความสำคัญสูงสุดก็คือ การก้าวถอยจากภาวะผู้นำของตน มากกว่าการใส่ใจกับพิธีขึ้นครองราชย์”
SEE ALSO: อังกฤษจัดพิธีบรมราชาภิเษกพระเจ้าชาลส์ที่ 3 สุดยิ่งใหญ่
และในสัปดาห์นี้เอง กลุ่มนักเคลื่อนไหวจาก 12 ประเทศเครือจักรภพเพื่อร่วมกันเขียนจดหมายถึงสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 เพื่อเรียกร้องให้พระองค์ออกมาขอโทษต่อทุกประเทศที่เคยเป็นอดีตเมืองขึ้น สำหรับมรดกตกทอดจากการล่าอาณานิคมของอังกฤษแล้ว โดยหนึ่งในผู้ร่วมลงนามในจดหมายนี้คือ ลิเดีย ธอร์ป วุฒิสมาชิกออสเตรเลีย ซึ่งกล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีว่า สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 ควร “เริ่มต้นกระบวนการฟื้นฟูความเสียหายจากการล่าอาณานิคม ซึ่งรวมถึง การส่งคืนความมั่งคั่งที่ขโมยไปจากประชาชนของเรา”
นายกรัฐมนตรีแอนโทนี อัลบาเนซี แห่งออสเตรเลีย ซึ่งจะเข้าร่วมงานที่กรุงลอนดอนและร่วมพิธีกล่าวปฏิญาณแสดงความจงรักภักดีต่อองค์กษัตริย์อังกฤษ แสดงจุดยืนเห็นด้วยกับการถอดสถาบันกษัตริย์ออกจากระบบ แต่ปฏิเสธแนวคิดการจัดการทำประชามติในเรื่องนี้
ส่วนที่อินเดีย ซึ่งเคยเป็นอาณานิคมสำคัญของอังกฤษ สื่อไม่ได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับพระราชพิธีนี้เท่าใด และประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลก็อาจไม่เคยได้ยินชื่อสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 ด้วยซ้ำ
พาวาน เค วาร์มา นักเขียนและอดีตนักการทูตอินเดีย กล่าวว่า “อินเดียก้าวต่อไปแล้ว” และชาวอินเดียส่วนใหญ่ “ไม่ได้มีความผูกพันทางอารมณ์กับราชวงศ์เลย”
ที่กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา เอพี รายงานว่า ประชาชนตามท้องถนนไม่ได้สนใจรายงานข่าวพระราชพิธีนี้เท่าใดเช่นกัน
เฮอร์แมน มานโยรา นักวิเคราะห์ด้านการเมืองและศาสตราจารย์ด้านวารสารศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยแห่งไนโรบี (University of Nairobi) กล่าวว่า ความทรงจำเกี่ยวกับการตอบโต้อย่างรุนแรงของอังกฤษต่อเหตุการณ์ก่อกบฏ มาว มาว (Mau Mau) ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1950 ยังคงชัดเจนอยู่ในใจของคนหลายคน พร้อมให้ความเห็นว่า ชาวเคนยาจำนวนมากจะไม่ติดตามการถ่ายทอดสดพิธีนี้ “เพราะเหตุการณ์ทารุณกรรมในยุคอาณานิคม เพราะการกดขี่ เพราะการคุมขัง เพราะการเข่นฆ่า เพราะความบาดหมายบนผืนดินของเรา” และว่า “นี่ไม่ใช่เรื่องของการสนใจพระราชวงศ์อังกฤษ ... เป็นเรื่องของความเกี่ยวเนื่องกัน”
- ที่มา: เอพี