เมื่อวันศุกร์ ประธานาธิบดี คาสซิม โจมาร์ต โทคาเยฟ ของคาซัคสถาน อนุญาตให้กองกำลังความมั่นคงที่รับมือกับผู้ประท้วงสามารถยิงสังหารฝ่ายต่อต้านรัฐบาลได้ หลังเกิดความไม่สงบในประเทศมาหนึ่งสัปดาห์
ผู้นำคาซัคสถานกล่าวผ่านการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ว่า “ผู้ก่อการร้าย” ยังคงเดินหน้าทำลายประเทศและทรัพย์สิน รวมทั้งใช้อาวุธต่อพลเรือนต่อไป เขาจึงอนุญาตให้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายสามารถยิงสังหารอีกฝ่ายได้โดยไม่ต้องมีการเตือน
ประธานาธิบดีโทคาเยฟยังเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องของนานาชาติที่ขอให้รัฐบาลของเขาเจรจากับผู้ประท้วง ซึ่งเขาอ้างโดยไม่มีหลักฐานยืนยันว่าเป็นกลุ่มที่ได้รับการฝึกฝนและจัดการโดยต่างชาติ
เขากล่าวว่าผู้ประท้วงเป็น “โจร” และ”ผู้ก่อการร้าย” ที่ต้องถูกกำจัดอย่างรวดเร็ว และขอบคุณประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ที่ส่งกองกำลังมาตามคำขอเพื่อช่วยปราบปรามการประท้วง
ผู้นำชาติต่างๆ ต่างมีท่าทีต่อสถานการณ์ในคาซัคสถาน เช่น นายคริสโตเฟอร์ เบอร์เกอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี ที่ระบุว่า เยอรมนียังคงตรวจสอบรายงานสถานการณ์ในคาซัคสถาน แต่เขาก็ตั้งคำถามถึงการใช้ความรุนแรงจนถึงแก่ชีวิตต่อพลเรือน และระบุว่ารัฐบาลคาซัคสถานต้องรับผิดชอบต่อการคุ้มครองพลเมือง
ทางด้านนางเออร์ซูลา วอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เรียกร้องให้มีการคุ้มครองสิทธิและความมั่นคงปลอดภัยของพลเรือนชาวคาซัค โดยทั้งเธอและประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ต่างเรียกร้องให้มีการยุติการใช้ความรุนแรงในคาซัคสถาน
เมื่อวันพฤหัสบดี นายเน็ด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า สหรัฐฯ และทั่วโลกจะจับตามองถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนในคาซัคสถาน
เมื่อวันศุกร์ มีรายงานว่า ความไม่สงบเหมือนจะหยุดลงชั่วขณะในกรุงอัลมาตี้และในเมืองอื่นๆ แม้จะยังคงมีเสียงปืนดังในกรุงอัลมาตี้ก็ตาม
ทั้งนี้ การประท้วงเริ่มขึ้นเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้วในภาคตะวันตกของประเทศ เพื่อประท้วงราคานำ้มันเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าอย่างรวดเร็ว โดยนักวิเคราะห์มองว่า การประท้วงที่ขยายวงกว้างอย่างรวดเร็วยังสะท้อนให้เห็นถึงความไม่พอใจในด้านอื่นๆ ของประชาชนที่อยู่ภายใต้ระบอบอำนาจนิยมมาตั้งแต่คาซัคสถานได้รับเอกราชจากสหภาพโซเวียตเมื่อปีค.ศ. 1991
ข้อมูลบางส่วนจากสำนักข่าว Associated Press สำนักข่าว Reuters และสำนักข่าว Agence France-Presse