Your browser doesn’t support HTML5
นโยบายมุ่งเน้นไปทางเอเชียหรือ Asia Pivot นั้นเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลสหรัฐฯชุดประธานาธิบดี Barack Obama มาตลอดหลายปี ซึ่งหมายถึงการเพิ่มบทบาทความสำคัญด้านยุทธศาสตร์ในแถบเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อต่อต้านอำนาจทางเศรษฐกิจและการทหารของจีนในภูมิภาคนี้
รมต.กลาโหมรัสเซีย Sergei Shoigu ประกาศว่ารัสเซียจะตั้งฐานทัพทหารบนหมู่เกาะ Kuril รวมทั้งฐานทัพอีก 4 แห่งในแถบขั้วโลกเหนือ ภายใต้แผนขยายศักยภาพทางการทหารของรัฐบาล ปธน.Vladimir Putin
คุณ Grant Newsham นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงของ Forum for Strategic Studies ในกรุงโตเกียว ระบุว่าหากรัสเซียต้องการเข้าไปมีส่วนสำคัญด้านการทหารในแถบตะวันออกเฉียงเหนือของเอเชีย การสร้างฐานทัพบนหมู่เกาะ Kuril ถือเป็นปัจจัยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะนอกจากจะเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญใกล้เส้นทางเดินเรือที่เชื่อมโยงรัสเซียกับแปซิฟิกแล้ว ยังมีผลในด้านความเป็นชาตินิยม และการขยายอำนาจทางการเมืองรวมอยู่ด้วย
ยังไม่รวมถึงรายงานที่ว่าพื้นที่แถบหมู่เกาะดังกล่าว อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล ตลอดจนเป็นแหล่งน้ำมันและแก๊สธรรมชาติ
ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา รัสเซียได้เพิ่มงบประมาณด้านการทหารกว่า 600,000 ล้านดอลล่าร์ เพื่อพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ซึ่งรวมถึงเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ เครื่องบินรบและเฮลิคอปเตอร์ โดยปัจจุบันกองทัพเรือรัสเซียภาคพื้นแปซิฟิกมีเรือประจำการ 73 ลำ เรือดำน้ำ 23 ลำ และเรือรบ 50 ลำ
หลายปีมานี้ กรุงมอสโคว์ได้กระชับความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับกรุงปักกิ่ง และเพิ่งจัดซ้อมรบทางทะเลร่วมกัน ซึ่งสำนักข่าวของทางการรัสเซียระบุว่าเป็นความร่วมมือทางทหารระหว่างรัสเซียและจีนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่
อย่างไรก็ตาม คาดว่าหากรัสเซียสร้างฐานทัพบนหมู่เกาะ Kuril จริง จะกระทบความสัมพันธ์กับญี่ปุ่น ที่ได้ระบุไว้ว่าบริเวณทางใต้ของหมู่เกาะดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในดินแดนภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น
รัฐบาลญี่ปุ่นมีคำแถลงต่อการประกาศสร้างฐานทัพของรัสเซียบนหมู่เกาะแห่งนั้นว่า หากเป็นความจริง ญี่ปุ่นจะประท้วงอย่างรุนแรง และญี่ปุ่นขอยืนยันว่าหมู่เกาะดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของญี่ป่น
แต่คุณ Grant Newsham แห่ง Forum for Strategic Studies เชื่อว่าเวลานี้รัสเซียถือไพ่เหนือกว่าญี่ปุ่น และญี่ปุ่นคงจะทำอะไรได้ไม่มากนักในเรื่องนี้
แม้กรณีพิพาทเรื่องหมู่เกาะแห่งนี้จะล่วงเลยมานาน 70 ปีแล้ว แต่ไม่มีฝ่ายใดยอมถอยหลัง และเป็นสาเหตุสำคัญที่จนทุกวันนี้รัสเซียและญี่ปุ่นยังไม่ได้ลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพระหว่างกัน
ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับญี่ปุ่นกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งหนึ่งในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เมื่อนายกรัฐมนตรี Dmitry Medvedev ของรัสเซียเดินทางเยือนหมู่เกาะ Kuril ทำให้ชาวญี่ปุ่นกลุ่มหนึ่งลุกฮือขึ้นประท้วง
และเมื่อต้นเดือนนี้ ปธน.Vladimir Putin ได้ยกเลิกกำหนดการเยือนญี่ปุ่นอย่างไม่มีกำหนด สืบเนื่องจากข้อพิพาทเรื่องหมู่เกาะ Kuril ที่ว่านี้เช่นกัน
(ผู้สื่อข่าว Brian Padden รายงานจากกรุงโซล / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)