นายกฯ ญี่ปุ่นเผยแผนพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์ทดแทนการนำเข้าก๊าซรัสเซีย

Japanese Prime Minister Fumio Kishida delivers a speech at the Guildhall in London, May 5, 2022.

นายกรัฐมนตรี ฟูมิโอะ คิชิดะ เปิดเผยในวันพฤหัสบดีว่า ญี่ปุ่นจะใช้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ในประเทศมาทดแทนการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย

ญี่ปุ่นพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียมากขึ้นหลังต้องปิดโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะเมื่อปี ค.ศ. 2011 เพราะเหตุภัยพิบัติแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิถล่มพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไป

แต่แรงกดดันจากการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเดือนกรกฎาคมและราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้นจนประชาชนเริ่มเดือดร้อนขึ้นเรื่อย ๆ นายกฯ คิชิดะ ตัดสินใจประกาศหันกลับไปพึ่งพลังงานนิวเคลียร์อีกครั้ง

ผู้นำรัฐบาลกรุงโตเกียวกล่าวว่า ญี่ปุ่นจำต้องแก้ไข "ภาวะเปราะบางของนโยบายความพอเพียงด้านพลังงาน" ด้วยการขยายขอบเขตการจัดซื้อพลังงาน ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานนิวเคลียร์ เพื่อกระจายความหลากหลายของแหล่งที่มาของพลังงานต่าง ๆ

นายกฯ ญี่ปุ่น ระบุว่า “เราจะใช้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ได้รับการรับรองด้านความปลอดภัย เพื่อช่วยให้โลกลดการพึ่งพาพลังงานรัสเซีย” และว่า “การกลับมาเปิดเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพียงเครื่องเดียวก็จะช่วยผลิตพลังงานเทียบเท่ากับก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) 1 ล้านตัน ที่จัดส่งให้ตลาดโลก ในแต่ละปี”

และแม้เวลาจะผ่านไปกว่าทศวรรษหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิถล่มฟุกุชิมะในเดือนมีนาคม ปี ค.ศ. 2011 ที่นำมาซึ่งวิกฤตนิวเคลียร์ที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่เหตุภัยพิบัติเชอร์โนบิล ญี่ปุ่นยังคงมีปัญหาเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์อยู่ โดยในเวลานี้ มีโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์เพียงไม่กี่แห่งจากทั้งหมด 30 โรงงานทั่วประเทศที่เปิดทำการอยู่

ขณะเดียวกัน เสียงส่วนใหญ่ของประชาชนในญี่ปุ่นและภาคธุรกิจต้องการให้รัฐบาลกลับมาเปิดเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทั้งหมดอีกครั้ง เพื่อแก้ปัญหาความมั่นคงด้านพลังงาน โดยกรณีวิกฤตยูเครนและต้นทุนราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มสูง คือ ปัจจัยล่าสุดที่สนับสนุนกระแสดังกล่าวในญี่ปุ่น

  • ที่มา: รอยเตอร์