ในขณะที่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบของญี่ปุ่นกำลังพยายามแก้ไขและควบคุมปัญหาของเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูที่โรงไฟฟ้าเมืองฟูกูชิมาอย่างเต็มที่ ด้วยการสูบน้ำทะเลเข้าไปลดความดันภายใน เพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิร้อนจัดเนื่องจากการขาดกระแสไฟฟ้าทำให้อุปกรณ์ทำความ เย็นและระบบควบคุมอุณหภูมิไม่ทำงานนั้น เจ้าหน้าที่ทางการญี่ปุ่นเตือนว่าเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูเครื่องที่สองของโรงงานที่เมืองฟูกูชิมาอาจเกิดระเบิดขึ้นเหมือนเครื่องที่หนึ่งเมื่อวันเสาร์ได้ แต่โฆษกรัฐบาลญี่ปุ่นแถลงว่าหากเกิดการระเบิดขึ้นอีก ก็จะไม่มีอันตรายต่อคนราว 170,000 คนซึ่งได้อพยพออกจากบริเวณรัศมี 20 ก.ม. รอบๆ โรงงานไฟฟ้านั้นแล้ว
อย่างไรก็ตามนาย Joseph Cirincione ผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ จาก Ploughshares Fund เตือนว่าสถานการณ์เลวร้ายที่สุดซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ คือมาตรการที่ใช้แก้ปัญหาไม่เป็นผลสำเร็จ และแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์นี้มีอุณหภูมิร้อนจัดจนหลอมละลายตัวเข้าด้วยกันและเกิดระเบิดขึ้น ส่งผลให้มีการปล่อยกัมมันตภาพรังสีลงสู่พื้นดิน สู่น้ำ และอากาศ และบางส่วนอาจเข้าไปในชั้นบรรยากาศทำให้กระแสลมพัดสารกัมมันตรังสีเหล่านี้ไปถึงบริเวณชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯได้ แต่นาย Marvin Furtel ผู้อำนวยการสถาบัน Nuclear Energy Institute ในสหรัฐฯ กล่าวว่าการหลอมละลายของเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูเนื่องจากความร้อนจัดนี้ ไม่จำเป็นต้องส่งผลให้เกิดการแพร่กระจายของกัมมันตภาพรังสีเสมอไป โดยเขายกตัวอย่างกรณีอุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้าปรมาณู Three Mile Island ในรัฐเพนซิลเวเนีย ซึ่งนับเป็นอุบัติเหตุด้านนิวเคลียร์ที่ร้ายแรงที่สุดของสหรัฐฯ ที่แม้ราวครึ่งหนึ่งของแท่งเชื้อเพลิงจะร้อนจัดจนละลายตัวลง แต่กรณีนี้ก็ไม่ทำให้มีการแพร่กระจายกัมมันตภาพรังสีออกจากบริเวณโรงงานจนเป็นอันตรายต่อผู้ที่อยู่ใกล้เคียง เพราะถึงแม้แท่งเชื้อเพลิงจะหลอมละลายแต่หากระบบการทำงานและระบบรักษาความปลอดภัยอื่นๆ ยังใช้การได้อันตรายต่อสวัสดิภาพของสาธารณชนก็จะอยู่ในระดับต่ำ
กรณีวิกฤติการณ์ด้านนิวเคลียร์ในญี่ปุ่นนี้ทำให้สมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ บางคนเรียกร้องให้มีการทบทวนมาตรการรักษาความปลอดภัยของโรงไฟฟ้าพลังปรมาณูในสหรัฐฯ โดยวุฒิสมาชิก Joe Lieberman เสนอให้ระงับการสร้างโรงงานใหม่ๆ ไว้ก่อนจนกว่าจะมีการประเมินเรื่องความเสี่ยงได้อย่างสมบูรณ์ แต่วุฒิสมาชิก Mitch McConnell ของพรรครีพับริกันแย้งว่าจะเป็นการผิดพลาด หากจะตัดสินใจเรื่องความต้องการใช้พลังงานภายในประเทศของสหรัฐฯ จากความกลัวเกี่ยวกับอุบัติเหตุซึ่งเกิดขึ้นในประเทศอื่น