ผู้นำรัฐบาลโตเกียวแสดงความเห็นใจต่อเหยื่อชาวเกาหลีใต้ในยุคจักรวรรดิญี่ปุ่น

  • VOA

South Korean President Yoon Suk Yeol, right, shakes hands with Japanese Prime Minister Fumio Kishida during a joint press conference after their meeting at the presidential office in Seoul, May 7, 2023.

นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อความทุกข์ทรมานเจ็บปวดที่แรงงานบังคับเกาหลีใต้ต้องเผชิญในช่วงที่ประเทศตกเป็นอาณานิคมของจักรวรรดิญี่ปุ่น โดยท่าทีดังกล่าวนั้นมีออกมาขณะที่ ผู้นำรัฐบาลกรุงโตเกียวและผู้นำรัฐบาลกรุงโซลประกาศการก้าวข้ามผ่านประวัติศาสตร์อันข่มขืนและฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในวันอาทิตย์

ความเห็นของนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ที่อยู่ระหว่างการเยือนกรุงโซลและร่วมประชุมกับประธานาธิบดียูน ซุก ยอล อยู่นั้น ถูกชาวเกาหลีใต้จับตาดูอย่างใกล้ชิด เนื่องจาก คนจำนวนมากในประเทศนี้ยังคงมีความรู้สึกไม่พอใจต่อญี่ปุ่นที่เข้ามาปกครองตนในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1910-1945 อยู่

ก่อนหน้านี้ ปธน.ยูน ถูกประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อย ว่า มีท่าทีโอนอ่อนให้กับกรุงโตเกียวโดยไม่ได้รับอะไรกลับคืนมา ขณะที่ แถลงการณ์ของนายกฯ คิชิดะ ที่ไม่ได้มีคำขอโทษอย่างชัดแจ้งต่อประวัติศาสตร์การล่าอาณานิคมของญี่ปุ่น แต่แสดงความเห็นอกเห็นใจเหยื่อชาวเกาหลี ก็แสดงให้เห็นว่า ผู้นำรัฐบาลโตเกียวเผชิญแรงกดดันอย่างหนักให้ต้องออกมาพูดอะไรสักอย่างเพื่อให้รักษาพลวัตความพยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านแห่งนี้ไว้

ในการแถลงข่าวร่วมกับปธน.ยูน นั้น นายกฯ คิชิดะ กล่าวว่า “โดยส่วนตัวแล้ว ผมรู้สึกเจ็บปวดอย่างมากอยู่ในใจ เมื่อผมคิดถึงความยากลำบากและความเศร้าโศกเสียใจอย่างรุนแรงที่คนจำนวนมากต้องเผชิญภายใต้สภาพแวดล้อมอันแสนสาหัสในช่วงเวลาเหล่านั้น” และกล่าวด้วยว่า ตนเชื่อว่า “มันเป็นความรับผิดชอบของผม ในฐานะนายกรัฐมนตรีแห่งญี่ปุ่น ที่จะร่วมมือกับ” ปธน.ยูน เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ให้แข็งแกร่งขึ้น

ผู้นำญี่ปุ่นเดินทางถึงกรุงโซลในช่วงเช้าวันอาทิตย์ เพื่อทำการเยือนเกาหลีใต้อย่างเป็นทางการเป็นเวลา 2 วัน หลังปธน.ยูน ซุก ยอล เยือนกรุงโตเกียวเมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยพัฒนาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้นี้ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี ที่ประเทศเพื่อนบ้านทั้งสองมีการแลกเปลี่ยนทางการทูตในระดับผู้นำประเทศกัน

SEE ALSO: ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ เปิดบทใหม่แห่งความสัมพันธ์หลังประชุมสุดยอดสองผู้นำ

รายงานข่าวระบุว่า การจัดการประชุมสุดยอดผู้นำของสองประเทศแบบติด ๆ กันนี้มีจุดมุ่งหมายหลัก ๆ เพื่อหาทางออกให้กับข้อพิพาทอันขมขื่น หลังศาลเกาหลีใต้มีคำพิพากษาในปี ค.ศ. 2018 ที่สั่งให้บริษัทญี่ปุ่นสองแห่งทำการจ่ายเงินชดเชยให้กับอดีตพนักงานชาวเกาหลีที่อยู่ในวัยชรา สำหรับการที่ต้องตกเป็นแรงงานบังคับในยุคล่าอาณานิคม แต่ญี่ปุ่นปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามคำพิพากษานั้น และแย้งว่า ประเด็นการชดเชยทั้งหมดมีการสะสางจนจบสิ้นไปแล้วตั้งแต่เมื่อครั้งสองประเทศตัดสินใจปรับความสัมพันธ์ระหว่างกันให้เป็นปกติเมื่อปี ค.ศ. 1965

ข้อพิพาทดังกล่าวส่งผลให้ทั้งสองประเทศปรับลดสถานภาพทางการค้าระหว่างกัน ทั้งยังทำให้รัฐบาลกรุงโซลชุดก่อนที่มีแนวคิดเสรีขู่ว่าจะยกเลิกข้อตกลงการแบ่งปันข้อมูลข่าวกรองทางทหาร และทำให้สหรัฐฯ ตกอยู่ในฐานะลำบาก ขณะที่กำลังพยายามสร้างพันธมิตรในภูมิภาคให้แข็งแกร่งเพื่อรับมือกับอิทธิพลจีนที่รุนแรงขึ้นและภัยคุกคามด้านนิวเคลียร์จากเกาหลีเหนือ

เลฟ เอริค-อีสลีย์ ศาสตราจารย์จาก มหาวิทยาลัยอีฮวา ในกรุงโซล กล่าวว่า “ความเห็นของคิชิดะเกี่ยวกับชาวเกาหลีที่ทนทุกข์ภายใต้การล่าอาณานิคมของญี่ปุ่นอาจนำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ว่า ไม่มีความชัดเจนมากขึ้น สำหรับกรณีผู้ก่อกรรมทำเข็ญในประวัติศาสตร์ และไม่ได้มีการขอโทษอันชัดแจ้งต่อเหยื่อของประวัติศาสตร์” และว่า “แต่คิชิดะนั้นได้เยือนสุสานแห่งชาติของเกาหลีใต้” ขณะที่ “มุมมองอย่างจริงใจ ความรู้สึกเคารพต่ออดีต และการยอมรับความท้าทายโลกในปัจจุบันของเขา[คิชิดะ] แสดงให้เห็นถึงสำนึกของความรับผิดชอบต่อการเดินหน้าพัฒนาความสัมพันธ์โซล-โตเกียว”

  • ที่มา: วีโอเอ