Your browser doesn’t support HTML5
ญี่ปุ่นกำลังเพิ่มความช่วยเหลือและการลงทุนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ และคานอำนาจทางเศรษฐกิจของจีนไปในคราวเดียวกัน
การลงทุนของญี่ปุ่นในอาเซียนนั้น มีตั้งแต่การสร้างทางรถไฟในกรุงมะนิลาของฟิลิปปินส์ สร้างท่าเรือในกัมพูชา และการสนับสนุนให้เกิดข้อตกลงการค้าเสรีฉบับใหม่หลังจากสหรัฐฯ ถอนตัวออกไปจากข้อตกลงการค้า Trans-Pacific Partnership (TPP)
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายกฯ ญี่ปุ่น ชินโซ่ อาเบะ พบปะกับบรรดาผู้นำอาเซียนที่การประชุมสุดยอดของอาเซียนในกรุงมะนิลา และมีการตกลงให้ขยายความร่วมมือทางการค้าระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่น ตามข้อตกลงที่ทำไว้เมื่อเก้าปีที่แล้ว
นายโนริโอะ มุรายาม่า โฆษกของนายกฯ อาเบะ กล่าวว่า อาเซียนคือส่วนสำคัญของโครงการเชื่อมต่อทางบกและทางทะเลของญี่ปุ่น และยังเป็นแหล่งที่มีปัจจัยการผลิตสำคัญทางอุตสาหกรรม คือ ที่ดิน และแรงงานราคาถูก รวมทั้งทรัพยากรอื่นๆ อุดมสมบูรณ์
โฆษกมุรายาม่า กล่าวด้วยว่า สำหรับญี่ปุ่น การมีแนวปฏิบัติทางทะเลที่ชัดเจนถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะปัจจุบันมีภัยคุกคามทางทะเลมากมาย เช่น โจรสลัด การก่อการร้าย การสะสมอาวุธ และภัยธรรมชาติ จึงจำเป็นที่ญี่ปุ่นต้องสนับสนุนให้เกิดสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคนี้ เพื่อลดภัยคุกคามดังกล่าว
การลงทุนของญี่ปุ่นในประเทศแถบอาเซียน 6 ประเทศ คือ เวียดนาม ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ มีมูลค่าราว 20,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ระหว่างปี ค.ศ. 2011 - 2016 ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าจากช่วง 5 ปีก่อนหน้านั้น
คุณเจฟฟรีย์ คิงสตั้น แห่งมหาวิทยาลัย Temple ในญี่ปุ่น กล่าวว่า สิ่งที่ญี่ปุ่นต้องการ คือการเดินเรืออย่างเสรีผ่านน่านน้ำของอาเซียน โดยเฉพาะในแถบทะเลจีนใต้ที่หลายประเทศรวมทั้งจีน กล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ เพราะถือเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าสำคัญระหว่างญี่ปุ่นกับตะวันออกกลางและอาฟริกา นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังมีฐานการผลิตมากมายอยู่ในแถบอาเซียนด้วย
ด้วยเหตุนี้ คุณคิงสตั้นเชื่อว่า ในที่สุดแล้ว ญี่ปุ่นต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดทำระเบียบปฏิบัติต่างๆ ทางการค้าร่วมกับอาเซียน
ในขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นก็ต้องการคานอำนาจจีน ทั้งทางการทหารและเศรษฐกิจ รวมทั้งต้องการแข่งขันกับโครงการ "หนึ่งถนน - หนึ่งวงแหวน" ของจีนเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางคนชี้ว่า ความช่วยเหลือของญี่ปุ่นที่ให้กับประเทศในแถบอาเซียนนั้น มักมีนัยยะทางการเมืองพ่วงมาด้วย ซึ่งต่างกับความช่วยเหลือจากจีนที่มักไม่มีวาระแอบแฝง
ด้านอาจารย์สตีเฟ่น นากี แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย International Christian ในกรุงโตเกียว กล่าวว่า บทบาทของญี่ปุ่นในอาเซียน ยังถูกมองว่าเป็นเหมือนตัวแทนด้านยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ เพื่อคานอิทธิพลของจีนในภูมิภาคนี้เช่นกัน