สตาร์ทอัพอิสราเอลเตรียมวัดคลื่นสมองนักบินอวกาศด้วยหมวกสุดล้ำสมัย

An EEG enabled helmet, due to be used in an experiment on the impact of a microgravity environment on brain activity is displayed at Israeli startup Brain.Space in Tel Aviv

บริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติอิสราเอล Brain.Space ที่ทำการศึกษาการทำงานของสมองมนุษย์อย่างละเอียดได้เตรียมพร้อมทดลองเทคโนโลยีสุดล้ำกับนักบินอวกาศบนเที่ยวบินด้วยยานของ SpaceX ที่จะเดินทางไปสู่สถานีอวกาศนานาชาติในวันที่ 3 เมษายน

รายงานจากสำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่า นักบินอวกาศ 3 ใน 4 คนที่จะเดินทางขึ้นไปสถานีข้างต้นด้วยเที่ยวบินพิเศษของบริษัท Axiom Space จะได้สวมชุดที่มีเทคโนโลยีหมวกแบบพิเศษที่สามารถตรวจสภาวะของคลื่นไฟฟ้าในสมอง (electroencephalogram) ได้

ISRAEL-TECH/BRAINSPACE

หมวกนักบินอวกาศแบบพิเศษชนิดนี้มีเส้นแปรงขนาดเล็กถึง 460 เส้นที่เชื่อมต่อกับหนังศีรษะของนักบินอวกาศในขณะที่พวกเขาทำกิจกรรมต่างๆ ประมาณ 20 นาทีต่อวัน โดยหนึ่งในกิจกรรม คือ การทดสอบการมองเห็น (visual oddball) ที่สามารถแสดงให้เห็นถึงความผิดปกติของคลื่นสมองได้ชัดเจน จากนั้น ข้อมูลจะได้รับการบันทึกและถูกส่งไปยังคอมพิวเตอร์ที่สถานีอวกาศโลก

แยร์ เลวี่ ซีอีโอของ Brain.Space กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า “เราทราบว่าสภาพแวดล้อมแบบเกือบไร้น้ำหนัก (microgravity) กระทบต่อตัวสั่งการทำงานของร่างกายมนุษย์ เพราะฉะนั้น มีโอกาสเป็นไปได้จะกระทบต่อสมองเช่นกัน เราจึงต้องการศึกษาเรื่องนี้”

เขากล่าวเสริมว่า ฐานข้อมูลในปัจจุบันมีข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการเต้นของหัวใจ ความยืดหยุ่นของผิวหนังและมวลกล้ามเนื้อในสภาพแวดล้อมในอวกาศแล้ว แต่ที่ขาดไปคือการทำงานของสมอง โดยโครงการนี้ของ Brain.Space จึงถือเป็นหนึ่งใน 30 การทดลองใหม่ภายใต้ภารกิจ Rakia Mission ที่สถานีอวกาศนานาชาติด้วย

และเพื่อศึกษาความแตกต่างของคลื่นสมองได้อย่างชัดเจน ผลการทดลองข้างต้นจะถูกนำมาเปรียบเทียบกับการทดลองกิจกรรมในรูปแบบเดียวกันที่เกิดขึ้นบนโลกและหลังจากนักบินอวกาศเหล่านั้นเสร็จสิ้นภารกิจ

ISRAEL-TECH/BRAINSPACE

Brain.Space ให้คำจำกัดความตนเองว่าเป็น บริษัทที่ส่งเสริมการพัฒนา “โครงสร้างพื้นฐานของสมอง” ซึ่งสามารถระดมทุนตั้งต้น (seed money) ได้ราว 8.5 ล้านดอลลาร์ และได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับการถ่ายโอนหน่วยความจำและข้อมูลจำนวนมหาศาลของสมองร่วมกับมหาวิทยาลัย Ben Gurion ในประเทศอิสราเอลอีกด้วย

เลวี่ กล่าวด้วยว่า การศึกษารูปแบบนี้มีความจำเป็นเพราะการสำรวจอวกาศที่กินระยะยาวนานและการอาศัยอยู่นอกโลกมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นในเร็ววัน และเขาหวังด้วยว่า โลกอวกาศจะเป็นตัวเร่งให้เกิดการสร้างแอปพลิเคชั่น การบริการและสินค้าใหม่ๆ เกี่ยวกับการทำงานของสมองในอนาคต โดยเฉพาะในส่วนของการเก็บข้อมูลที่ควรจะมีความสะดวกรวดเร็ว ซึ่งเขาเปรียบเทียบว่า อาจจะง่ายพอๆ กับการดึงข้อมูลจาก Apple Watch

ในส่วนของเที่ยวบินเอกชนที่กำลังจะเกิดขึ้นครั้งนี้ จะใช้ระยะเวลาทั้งสิ้นรวม 10 วันนั้น และถือเป็นครั้งแรกสำหรับการเดินทางเชิงพาณิชย์สู่สถานีอวกาศที่มีนักบินอวกาศถึง 4 คนอีกด้วย

  • ที่มา: รอยเตอร์