ครั้งแรกของโลก! อิสราเอลสร้างหัวใจจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ

Israel 3D Heart

Your browser doesn’t support HTML5

3D Heart

ทีมนักวิทยาศาสตร์อิสราเอล ผลิตหัวใจจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ที่ใช้ชิ้นส่วนเนื้อเยื่อของมนุษย์ในการสร้างหัวใจใหม่ขึ้นมา เพื่อเป็นใบเบิกทางในการรักษาผู้ป่วยที่ต้องการเปลี่ยนถ่ายหัวใจมนุษย์ในอนาคต

ความก้าวหน้าทางการแพทย์ครั้งใหม่ ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Advanced Science เผยภาพหัวใจขนาด 2.5 เซนติเมตร ขนาดเล็กเท่ากับหัวใจของกระต่าย แต่มีโครงสร้างของหัวใจที่ใกล้เคียงของหัวใจจริงๆทั้งหมด ซึ่งพิมพ์ขึ้นมาจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ

อาจารย์ Tal Dvir หัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย Tel Aviv University แถลงข่าวความสำเร็จเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา อธิบายว่า นี่ถือเป็นความก้าวหน้าทางการแพทย์ครั้งสำคัญ เพราะเป็นหัวใจจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติที่ผลิตจากเซลล์ของมนุษย์ และมีโครงสร้างห้องหัวใจและหลอดเลือดที่ใกล้เคียงกับหัวใจของจริงทั้งหมด

อาจารย์ Dvir มองว่า จุดเด่นของหัวใจจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติดวงนี้ คือ หมึกชีวภาพที่มาจากเนื้อเยื่อของคนไข้โดยตรง ซึ่งช่วยลดปัญหาการเข้ากันไม่ได้ของอวัยวะที่ปลูกถ่ายในคนไข้ และร่นเวลาที่คนไข้ต้องรอในการปลูกถ่ายหัวใจในอนาคต

ขั้นตอนการผลิตหัวใจจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติแบบนี้ จะเริ่มจากการนำชิ้นส่วนเซลล์เนื้อเยื่อไขมัน หรือ fatty tissue ของคนไข้มาแยกส่วนที่เป็นเซลล์และที่ไม่ใช่เซลล์ เช่น คอลลาเจน เพื่อใช้เป็นหมึกชีวภาพสำหรับขึ้นรูปเป็นหัวใจในเครื่องพิมพ์ 3 มิติ และปรับแต่งเซลล์ให้เป็นสเต็มเซลล์เพื่อพัฒนาเป็นเซลล์หัวใจดวงใหม่

สำหรับหัวใจกระต่าย ขนาด 2.5 เซนติเมตรนั้นใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงในการพิมพ์ขึ้นมา แต่สำหรับหัวใจมนุษย์ จะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 วัน และต้องใช้เซลล์หลายพันล้านเซลล์สำหรับหัวใจเพียง 1 ดวง

อย่างไรก็ตาม หัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย Tel Aviv University อธิบายเพิ่มเติมว่า ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 เดือนให้หัวใจได้เติบโตมากพอที่จะเริ่มเต้นเหมือนหัวใจปกติ โดยในขั้นตอนนี้ทีมวิจัยเตรียมทดสอบปลูกถ่ายหัวใจจากเครื่องพิมพ์ 3 มิตินี้ในสัตว์ และคาดว่าจะทดสอบในมนุษย์ได้ในเวลาต่อไป

ในขณะที่ตอนนี้ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า เครื่องพิมพ์ 3 มิตินี้จะสร้างหัวใจเทียมที่ทำงานได้ดีกว่าหัวใจธรรมชาติได้หรือไม่ แต่ประโยชน์ที่เห็นได้ชัดก็คือ ชิ้นส่วนที่สร้างขึ้นจากเครื่องพิมพ์ 3 มิตินี้ สามารถทดแทนหรือใช้ซ่อมแซมชิ้นส่วนของหัวใจที่เป็นโรคหรือเสียหายได้

ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Tel Aviv University ตั้งเป้าไว้ว่า ภายใน 10 ปี โรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่ทันสมัยทั่วโลก จะมีเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ที่สร้างอวัยวะทดแทนให้กับมนุษย์ได้

(นีธิกาญจน์ กำลังวรรณ เรียบเรียงบทความจาก Bloomberg และ The Jerusalem Post)