สหรัฐฯ ออกมาตรการลงโทษต่อโครงการด้านอวกาศอิหร่าน

FILE - In this undated photo obtained from the Iranian Students News Agency, ISNA, a rocket dubbed, 'Pishgam,' or 'Pioneer' is seen ahead of a space launch at an undisclosed location in Iran.

สหรัฐฯ ออกมาตรการลงโทษต่อโครงการด้านอวกาศของอิหร่านเป็นครั้งแรก โดยอ้างว่าเป็นโครงการบังหน้าเพื่อพัฒนาขีปนาวุธ

นายไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวเมื่อวันอังคาร หลังมีมาตรการลงโทษล่าสุดกับอิหร่านว่า สหรัฐฯจะไม่ยอมให้อิหร่านใช้โครงการด้านอวกาศเป็นฉากบังหน้าการพัฒนาขีปนาวุธของอิหร่าน

มาตรการลงโทษดังกล่าวของสหรัฐฯ จะมีผลต่อองค์การอวกาศของอิหร่าน ศูนย์วิจัยด้านอวกาศของอิหร่าน และสถาบันวิจัยการบินอวกาศของอิหร่าน และปิดกั้นการเข้าถึงทรัพย์สินของหน่วยงานด้านอวกาศอิหร่านทั้งหมดในสหรัฐฯ รวมทั้งมีมาตรการห้ามพลเมืองอเมริกันทำธุรกิจกับหน่วยงานดังกล่าวของอิหร่าน

ท่าทีของสหรัฐฯมีขึ้น หลังจากทางการสหรัฐฯอ้างว่าเทคโนโลยีปล่อยจรวดขึ้นสู่อวกาศของอิหร่านมีความคล้ายและใช้ทดแทนกันได้กับเทคโนโลยีสำหรับโครงการพัฒนาขีปนาวุธ ซึ่งรวมถึงวิธีการควบคุมขีปนาวุธที่เคลื่อนที่อยู่ด้วย อีกทั้งยังเตือนหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศที่ร่วมมือกับอิหร่านด้านอวกาศ ว่าอาจเข้าข่ายช่วยพัฒนาโครงการขีปนาวุธของอิหร่านได้

แต่ทางอิหร่าน ยืนยันว่า โครงการด้านอวกาศของอิหร่าน มีเป้าหมายในการสร้างจรวดเพื่อส่งดาวเทียมโทรคมนาคมขึ้นไปเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาอิหร่านสามารถส่งดาวเทียม 2 ลูกขึ้นไปได้สำเร็จเมื่อปี ค.ศ. 2013 แต่หลังจากนั้นอิหร่านได้พัฒนาโครงการแบบเดียวกันถึง 3 ครั้งแต่ไม่สำเร็จ

ก่อนหน้านี้ในวันอังคาร นายฮัสซาน รูฮานี ผู้นำอิหร่านได้ยืนยันว่าจะไม่มีการเจรจาทวิภาคีกับสหรัฐฯอย่างแน่นอน และทางเดียวที่การหารือจะเกิดขึ้นได้ จะต้องเกิดขึ้นหลังจากสหรัฐฯยกเลิกมาตรการลงโทษกับอิหร่านทั้งหมด และทุกประเทศที่อยู่ในข้อตกลงนิวเคลียร์เมื่อปี ค.ศ. 2015 จะต้องมาหารือร่วมกันด้วย