ผู้แทนรัฐบาลชาติต่างๆ เข้าร่วมการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านอีกครั้งในวันจันทร์ ในกรุงเวียนนา เพื่อหวังรื้อฟื้นความตกลงนานาชาติที่เคยทำไว้เมื่อปี ค.ศ. 2015 ซึ่งมีผลจำกัดโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของรัฐบาลกรุงเตหะรานเพื่อแลกกับการยกเลิกมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่างๆ หลังจากทุกฝ่ายหยุดพักการหารือไปในช่วงฉลองเทศกาลปีใหม่
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศอิหร่านเปิดเผยในวันจันทร์ว่า การหารือนั้น “กำลังเข้าสู่ช่วงพูดคุยแบบเจาะลึก” แล้ว
รายงานข่าวระบุว่า อิหร่านและสหรัฐฯ ต่างส่งสัญญาณความเต็มใจที่จะกลับเข้าร่วมความตกลงนี้อย่างเต็มที่อีกครั้ง โดยนับตั้งแต่เริ่มกลับมาหารือกันเมื่อเดือนเมษายนของปีที่แล้ว ประเทศผู้ร่วมลงนามอื่นๆ ต้องทำหน้าที่เป็นตัวกลางให้ทีมผู้แทนของทั้งสองประเทศนี้ในการเจรจาแบบทางอ้อมมาโดยตลอด
ทั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ถอนตัวออกจากข้อตกลงปี ค.ศ. 2015 ที่มีชื่อเรียกว่า Joint Comprehensive Plan for Action (JCPOA) เมื่อปี ค.ศ. 2018
ต่อมา อิหร่านค่อยๆ เลิกที่จะทำตามคำมั่นที่ให้ไว้ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งรวมถึง การกลับมาสั่งสมแร่ยูเรเนียมเกินกว่าเพดานที่กำหนดไว้ และการเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมให้สูงขึ้น รวมทั้งการใช้เครื่องหมุนเหวี่ยงที่ทันสมัยขึ้นเพื่อแยกอนุภาคแร่ด้วย
ขณะเดียวกัน เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว ฝรั่งเศสออกมาประณามอิหร่านที่ทำการปล่อยจรวดนำส่งดาวเทียมขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ว่า เป็นการละเมิดมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ โดยระบุว่า การทำกระทำดังกล่าว “เป็นเรื่องที่น่าเศร้ายิ่ง” ขณะที่กำลังมีความคืบหน้าการเจรจาที่กรุงเวียนนาอยู่
(ข้อมูลบางส่วนมาจากสำนักข่าว เอพี - เอเอฟพี – รอยเตอร์)