การเจรจาแบบทางอ้อมระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่าน เกี่ยวกับข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015 ที่ล้มไปก่อนหน้านี้ กลับมาเริ่มต้นอีกครั้งในวันจันทร์ โดยกรุงเตหะรานยังคงมุ่งมั่นที่จะเรียกร้องให้กรุงวอชิงตันยกเลิกมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อตนให้ได้ ตามรายงานของสำนักข่าว รอยเตอร์
ในการเจรจารอบก่อนหน้านี้ซึ่งนับเป็นรอบที่ 7 และเป็นครั้งแรกภายใต้รัฐบาลใหม่ของประธานาธิบดี เอบราฮิม ไรซี สิ้นสุดลงไปเมื่อ 10 วันก่อน หลังฝั่งอิหร่านขอเพิ่มข้อเรียกร้องลงเป็นลายลักษณ์อักษร ขณะที่ ฝั่งชาติตะวันตกแย้งว่า อิหร่านเดินหน้าทำตามข้อตกลง “ช้าเกินไป” และผู้แทนเจรจาของกรุงเตหะรานควรตระหนักว่า เหลือเวลาอีกเพียง “ไม่กี่สัปดาห์เท่านั้น” ก่อนที่ เงื่อนไขในข้อตกลงปี 2015 จะหมดอายุและใช้งานไม่ได้อีกต่อไป
หวัง ชุน ผู้แทนสูงสุดของจีนที่เข้าร่วมการเจรจาบอกกับผู้สื่อข่าวก่อนเข้าร่วมประชุมว่า การเจรจาในวันจันทร์นี้ เกิดขึ้นได้หลังทุกฝ่ายตกลงที่จะเข้าร่วมหารือในช่วงเทศกาลคริสต์มาส-ปีใหม่นี้
ทั้งนี้ อิหร่านปฏิเสธที่จะร่วมโต๊ะหารือโดยตรงกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งทำให้ผู้มีส่วนร่วมการเจรจาข้อตกลงที่เหลือต้องคอยวิ่งส่งข้อมูลข่าวสารให้กับอิหร่านและสหรัฐฯ ซึ่งกรุงวอชิงตันแสดงความหงุดหงิดกับประเด็นนี้มาหลายครั้ง เพราะทำให้กระบวนการพูดคุยช้าลงไปอีก ขณะที่ เจ้าหน้าที่รัฐบาลชาติตะวันตกสงสัยว่า นี่อาจเป็นแผนการของอิหร่านเพื่อยื้อเวลาก็เป็นได้
สื่ออิหร่านอ้างคำพูดของ ฮอสเซน อามิราบดัลเลาะเฮียน รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่านว่า สิ่งที่กรุงเตหะรานเห็นว่าสำคัญที่สุดก็คือ การเจรจาให้ได้ถึงจุดที่อิหร่านจะสามารถจำหน่ายน้ำมันของตนได้อย่างง่ายดายและไม่มีอุปสรรคใดๆ ซึ่งเป็นไปตามจุดยืนที่ต้องการให้สหรัฐฯ ยกเลิกมาตรการลงโทษต่างๆ ก่อนที่ฝ่ายตนจะเริ่มดำเนินการเกี่ยวกับโครงการพัฒนานิวเคลียร์ภายใต้ข้อตกลงระหว่างทั้งสองฝ่าย แต่ผู้แทนเจรจาของรัฐบาลตะวันตกระบุว่า ทั้งสองประเด็นจะต้องเดินหน้าไปพร้อมๆ กันอย่างมีสมดุล