นานาชาติคืนสู่โต๊ะเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านอีกครั้ง

IRAN-NUCLEAR/IAEA

การเจรจาระดับนานาชาติว่าด้วยข้อตกลงเกี่ยวกับโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่านเริ่มต้นขึ้นอีกครั้งในวันจันทร์ ที่กรุงเวียนนา หลังการหารือต้องถูกพักเป็นเวลา 5 เดือน

การประชุมหารือครั้งล่าสุดนี้ เป็นครั้งแรกที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของอิหร่านได้เข้าร่วม และยังเป็นโอกาสที่สหรัฐฯ ได้กลับเข้าร่วมทางอ้อมอีกครั้ง แบบเดียวกันกับที่เกิดขึ้นในการบรรลุข้อตกลงเมื่อปี ค.ศ. 2015 ซึ่งมีชื่อเรียกกันว่า Joint Comprehensive Plan of Action หรือ JCPOA

โดยในการหารือครั้งนี้ อิหร่านจะเข้าร่วมประชุมโดยตรงกับคู่เจรจาข้อตกลงปี ค.ศ. 2015 อันได้แก่ อังกฤษ จีน ฝรั่งเศส รัสเซีย และเยอรมนี โดยเจ้าหน้าที่การทูตของยุโรปจะทำหน้าที่คอยนำส่งข้อมูลให้กับสหรัฐฯ และนำข้อความจากกรุงวอชิงตันมานำเสนอต่อที่ประชุมให้

สิ่งที่หลายฝ่ายคาดหวังจากการหารือที่กรุงเวียนนาในสัปดาห์นี้คือ การรื้อฟื้นข้อตกลงจำกัดโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านให้มีอายุอีก 10-15 ปี เพื่อแลกเปลี่ยนกับการยกเลิกมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ สหรัฐฯ ถอนตัวออกจากข้อตกลงดังกล่าวเมื่อปี ค.ศ. 2018 ในช่วงรัฐบาลของอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ก่อนที่ อิหร่านเองจะเริ่มยกเลิกคำสัญญาที่จะทำตามเงื่อนไขในข้อตกลงนี้เช่นกัน

จวบจนถึงวันนี้ อิหร่านได้ทำการต่างๆ ที่ละเมิดข้อจำกัดด้านการสั่งสมแร่ยูเรเนียม และเสริมสมรรถนะของแร่ยูเรเนียมให้สูงขึ้นไปอีก รวมทั้งยังติดตั้งเครื่องหมุนเหวี่ยง (Centrifuge) รุ่นใหม่ๆ เพื่อใช้แยกอนุภาคสารที่โรงงานนิวเคลียร์ของตนด้วย

ข้อตกลงดั้งเดิมที่อิหร่านลงนามร่วมกับนานาชาตินั้น เกิดขึ้นจากประเด็นความกังวลว่า กรุงเตหะรานกำลังทำการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อยู่ ซึ่งอิหร่านปฏิเสธมาโดยตลอด และยืนยันว่า โปรแกรมนิวเคลียร์ของตนนั้นมีไว้เพื่อจุดประสงค์ด้านสันติ เช่น การวิจัยและการผลิตพลังงานไฟฟ้า เป็นต้น

(ข้อมูลบางส่วนมาจาก สำนักข่าว เอพี/เอเอฟพี/รอยเตอร์)