Your browser doesn’t support HTML5
รายงานจากคณะกรรมการของสหประชาชาติด้านความร่วมมือระหว่างรัฐบาล เกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกหรือ IPCC เตือนว่า ในปี พ.ศ. 2573 หรืออีกเพียง 12 ปีต่อจากนี้ อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกอาจสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม และจะทำให้เกิดความเสี่ยงเรื่องหายนะจากธรรมชาติ เช่น ภาวะแล้งจัดไฟป่า น้ำท่วมใหญ่ รวมทั้งการขาดแคลนอาหารสำหรับผู้คนนับล้านๆ คนทั่วโลกได้
โดยการคาดการณ์ดังกล่าวมาจากระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่บรรยากาศของโลกที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ขณะนี้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกได้เพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียสเหนือระดับอุณหภูมิก่อนยุคอุตสาหกรรมแล้ว และรายงานของสหประชาชาติยังเตือนว่า การยับยั้งไม่ให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นกว่านี้ ต้องอาศัยการดำเนินงานอย่างจริงจังในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้า เพราะถ้าโลกร้อนขึ้นเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียสเหนือระดับอุณหภูมิก่อนยุคอุตสาหกรรมแล้ว โลกของเราก็จะพบกับปัญหาต่างๆ มากมาย นับตั้งแต่คลื่นความร้อนจัด ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ปัญหาภัยแล้ง และฝนที่ตกหนักมากผิดปกติ เป็นต้น
ซึ่งการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ตามเป้า จะต้องอาศัยความเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างขวางทั้งในรูปแบบการใช้พลังงาน การคมนาคมขนส่ง อุตสาหกรรม และการอยู่อาศัยในเขตเมือง
รายงานของสหประชาชาติชิ้นนี้ระบุด้วยว่า เห็นได้ชัดว่าปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ Climate Change นั้นกำลังเกิดขึ้นให้เห็นกับตา แต่สิ่งที่จะตามมาหากไม่มีมาตรการแก้ไขและรับมืออย่างเร่งด่วนจะยิ่งส่งผลเสียหนักมากยิ่งขึ้น ดังตัวอย่างที่เห็นได้จากภาวะแล้งจัดที่ทำให้ขาดน้ำในเมืองเคปทาวน์ของแอฟริกาใต้ คลื่นความร้อนจัดในทวีปยุโรป และฝนที่ตกอย่างหนักจากพายุเฮอร์ริเคน Harvey กับพายุเฮอร์ริเคน Florence ในสหรัฐฯ เป็นต้น
นอกจากนั้น แนวปะการัง รวมทั้งแนวปะการังยักษ์ Great Barrier Reef ของออสเตรเลีย ก็จะได้รับผลกระทบอย่างหนักด้วยเช่นกัน โดยคาดว่าปะการังของโลกจะตายลง 70% ถึง 90% จากภาวะโลกร้อน หากไม่มีการเร่งแก้ไข
รายงานของคณะกรรมการ IPCC ของสหประชาชาติที่เพิ่งเผยแพร่เมื่อวันจันทร์นี้ เป็นการศึกษาซึ่งใช้เวลาสามปี และเป็นผลจากข้อตกลงเรื่อง Climate Change ที่กรุงปารีสเมื่อปี พ.ศ. 2558 ซึ่ง 197 ประเทศทั่วโลกตกลงจะร่วมมือกันเพื่อบรรลุเป้าการตรึงอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้อยู่ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียสเหนือระดับอุณหภูมิก่อนยุคอุตสาหกรรม และจะพยายามควบคุมอุณหภูมิโลกให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสเหนือระดับอุณหภูมิก่อนยุคอุตสาหกรรมด้วย
แต่รัฐบาลสหรัฐฯ ของประธานาธิบดีทรัมป์ ได้ประกาศถอนตัวจากข้อตกลงดังกล่าว โดยอ้างว่าข้อตกลงนี้ไม่เป็นธรรมสำหรับสหรัฐฯ
ประธานร่วมของกลุ่มทำงานที่สามของคณะกรรมการ IPCC ของสหประชาชาติ กล่าวว่า การจำกัดและควบคุมปัญหาโลกร้อนไม่ให้ขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสเหนือกว่าระดับยุคก่อนอุตสาหกรรมนั้น เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ในทางเทคนิค และจากหลักวิทยาศาสตร์ด้านเคมีกับฟิสิกส์
อย่างไรก็ตาม เรื่องที่มีความสำคัญมากกว่าและจำเป็นอย่างยิ่งยวดเพื่อบรรลุผลที่ว่านี้ คือความตั้งใจทางการเมืองอย่างจริงจังและความร่วมมือระดับโลก เพื่อจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพื่อควบคุมผลกระทบอย่างรุนแรงจากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่จะมีต่อสภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์ในช่วงอีกไม่กี่ปีต่อจากนี้