ในช่วงเดือนสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผู้สมัครจากทั้งสองพรรคขับเคี่ยวกันอย่างเข้มข้น โดยเน้นการเดินสายหาเสียงในรัฐสมรภูมิ ที่คาดกันว่าจะเป็นตัวชี้ขาดว่าใครจะได้เข้าไปนั่งในทำเนียบขาว วีโอเอไทยได้ไปเกาะติดเวทีหาเสียง และรับฟังความเห็นของผู้สนับสนุนของทั้งสองพรรค ในตอนแรก ไปติดตามผู้สนับสนุนรองประธานาธิบดี คามาลา แฮร์ริส จากพรรคเดโมแครตในรายงานพิเศษจากเมืองเอียรี รัฐเพนซิลเวเนีย
ในวันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา รองประธานาธิบดี คามาลา แฮร์ริส ตัวแทนชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรคเดโมแครต เดินทางไปหาเสียงที่เมืองเอียรี รัฐเพนซิลเวเนีย หนึ่งใน 7 รัฐสมรภูมิที่มีความสำคัญยิ่งต่อการเลือกตั้งที่จะมาถึงในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้
นี่เป็นการหาเสียงในแถบตะวันตกของรัฐเพนซิลเวเนียของแฮร์ริส ที่มีผู้เข้าร่วมมากที่สุดกว่า 8,000 คน บ้างก็อาศัยอยู่ที่เอียรี บ้างก็เดินทางมาจากต่างเมืองต่างรัฐ
Your browser doesn’t support HTML5
ชาคูราห์ แซคเคอรี ที่เดินทางมาจากเมืองบัฟฟาโล รัฐนิวยอร์ก บอกกับวีโอเอไทยว่า "เรามาที่นี่เพื่อจะสนับสนุนให้รองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส ชนะการเลือกตั้ง เพราะเราเชื่อมั่นในตัวเธอ การเป็นประธานาธิบดีของเธอจะทำให้อเมริกาเป็นประเทศที่ดีขึ้น"
เธอเดินทางมาเพื่อต้องการสนับสนุนให้ แฮร์ริส ชนะการเลือกตั้ง เพราะเธอเชื่อมั่นว่าแฮร์ริสจะเป็นผู้นำที่จะทำให้อเมริกาเป็นประเทศที่ดีขึ้น
ประเด็นหาเสียงสำคัญของ คามาลา แฮร์ริส คือการพัฒนาเศรษฐกิจ การช่วยเหลือและสร้างความมั่นคงให้ชนชั้นกลางผ่านมาตรการต่าง ๆ เช่น การลดภาษี ลดค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพ การศึกษา และที่อยู่อาศัย เป็นต้น
อารี ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย ผู้ไม่ประสงค์จะเปิดเผยนามสกุล บอกว่าชื่นชอบนโยบายด้านสาธารณสุข และเศรษฐกิจของแฮร์ริส
"แน่นอนว่าฉันเองก็เป็นคนหนึ่งที่ยังต้องเช่าที่อยู่อาศัย ฉันได้รับผลกระทบจากปัญหาเงินเฟ้อ และค่าครองชีพที่สูงขึ้น"
ปัญหาเศรษฐกิจจากภาวะเงินเฟ้อ เป็นสิ่งที่อดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ นำมาใช้โจมตีว่าประธานาธิบดีไจ ไบเดน และรองปธน.คามาลา แฮร์ริส เป็นต้นเหตุ แต่ถึงอย่างนั้น ผู้สนับสนุนแฮร์ริสบางคนอย่าง อารี ก็มองว่าแฮร์ริสจะสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้หากชนะการเลือกตั้ง
ส่วนนโยบายเรื่องการปกป้องสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะสิทธิในการเข้าถึงเทคโนโลยีการเจริญพันธ์ุ IVF และการทำแท้งอย่างถูกกฎหมาย ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นร้อนที่หลายคนบอกกับวีโอเอไทยว่ามีความสำคัญต่อพวกเขา เช่น เบเวอร์ลี ผู้มีความหลากหลายทางเพศที่แต่งงานกับภรรยาของเธอ และตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิขั้นพื้นฐานเหล่านี้
"ฉันแค่อยากจะให้อเมริกาเป็นประเทศที่มีอิสระเสรีอย่างที่เราเชื่อว่ามันจะเป็นได้ ซึ่งรวมถึงเสรีภาพของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ คนผิวสี และเสรีภาพของผู้คนที่อพยพมาจากทั่วสารทิศอย่างทุกกฎหมาย เพื่อทำตาม 'ฝันของคนอเมริกัน' (American dream) ที่พวกเราทุกคนก็อยากสัมผัส" เบเวอร์ลีบอกกับีโอเอไทย
คามาลา แฮร์ริส ยังชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างตัวเธอและอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เธอโจมตีทรัมป์ว่าเป็นภัยต่อประชาธิปไตย หลังจากที่ทรัมป์ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งในปี 2020 ที่เขาพ่ายแพ้ต่อโจ ไบเดน
ผู้มาฟังการหาเสียงบางคนมองว่า 4 ปีที่ผ่านมาภายใต้การนำของเดโมแครต อเมริกาเดินไปข้างหน้า และแสดงความกังวล หากทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง และได้เป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง
"หากคุณฟังโดนัลด์ ทรัมป์ พูด จะเห็นเลยว่าเขาไม่เคารพรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ" โทมาส บริซูเอลา วัย 21 ปี ที่กำลังจะได้เลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นครั้งแรกในชีวิตกล่าว "ตัวอย่างเช่น การที่ทรัมป์ชอบพูดว่าเขาจะอยู่ในอำนาจนานกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้"
ในประเด็นนี้ ทรัมป์เคยให้สัมภาษณ์ว่าเขาล้อเล่นเท่านั้น แต่ก็ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งอย่างโทมาสตั้งคำถามว่าเหตุใดถึงมักจะล้อเล่นในประเด็นล่อแหลมเช่นนี้
หากชนะการเลือกตั้ง คามาลา แฮร์ริส จะเป็นสตรีคนแรก และผู้มีเชื้อสายเอเชียคนแรกที่ได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งคุณสมบัติดังกล่าวก็เป็นแรงดึงดูดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเอเชียนอเมริกัน ออกมาสนับสนุนอย่างคึกคัก
"ฉันคิดว่าแฮร์ริสยืนหยัดต่อสู่เพื่อคนที่เป็นเบี้ยล่างในสังคม" อันยาห์ โฮลเบน (Anyah Holben) นักศึกษาอเมริกันเชื้อสายเอเชียกล่าว
"การเป็นคนส่วนน้อยในสังคม เรามักจะถูกมองข้ามไปเสมอ ฉันจึงมองว่ามันสำคัญที่ตอนนี้คนส่วนน้อยอย่างฉันจะต้องออกมาใช้สิทธิใช้เสียง...ฉันเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าในตัวแฮร์ริส ฉันคิดว่าเธอจะสามารถทำได้ เธอเป็นคนที่มีความมุ่งมั่นมาก"
นักวิเคราะห์มองว่า เอียรี เคาน์ตี้คือ “เมืองสมรภูมิในรัฐสมรภูมิ” ในการเลือกตั้ง 16 ปีที่ผ่านมา ชาวเมืองเอียรีเลือกผู้สมัครที่ลงเอยเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งทุกครั้ง เช่นเดียวกับรัฐเพนซิลเวเนีย ที่ผู้ชนะคะแนนในรัฐนี้ สามารถชนะการเลือกตั้งทั่วประเทศได้ด้วย ในการเลือกตั้ง 10 ครั้งจาก 12 ครั้งหลังสุด รวมทั้งโอบาม่าในปี 2012 ทรัมป์เมื่อปี 2016 และไบเดนในปี 2020
หลายคนที่มาในวันนี้คาดการณ์ว่าการเลือกตั้งจะเป็นไปอย่างสูสี แต่พวกเขาก็มีความหวัง ที่ตั้งอยู่บนความไม่ประมาทว่า สหรัฐฯ จะได้ประธานาธิบดีคนใหม่ เป็นสตรีเชื้อสายเอเชีย ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้
ที่มา: วีโอเอไทย