Your browser doesn’t support HTML5
ในวันอังคารนี้ องค์การตำรวจสากลหรือ อินเตอร์โพล (Interpol) จัดการประชุมสามัญ ที่เมืองอิสตันบูล ประเทศประเทศตุรกี
ตัวเเทนประเทศต่างๆ จะเลือกผู้ดำรงตำเเหน่งสำคัญหลายตำเเหน่ง รวมถึงประธาน อินเตอร์โพล ซึ่งจะมีวาระ 4 ปี และสมาชิกคณะกรรมการบริหาร
ผู้ที่ถูกจับตามอง ที่จะชิงตำแหน่ง ประธาน อินเตอร์โพล คือ นายนาเซอร์ อัล-ไรซี่ และ อีกรายหนึ่ง คือนายหู ปินเฉิน ที่ต้องการเป็นสมาชิกคณะกรรมการบริหาร
สำหรับ นาเซอร์ อัล-ไรซี่ เขาดำรงตำแหน่ง พลตำรวจตรี และเป็นผู้ตรวจการของกระทรวงกิจการภายใน ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือยูเออี
ส่วนหู ปินเฉิน มาจากกระทรวงความมั่นคงสาธารณะของจีน
สำนักข่าวเอพี รายงานว่า ท่ามกลางความเป็นไปได้ที่ทั้งสองอาจได้รับเลือกในตำแหน่งสำคัญ นักรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนกังวลว่า อินเตอร์โพล ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ฝรั่งเศส จะไม่ได้ทำหน้าที่รักษากฎหมายอย่างเต็มที่
ผู้ที่เเสดงความกังวลระบุว่า แทนที่ อินเตอร์โพล จะทำหน้าที่ไล่ล่านักค้ามนุษย์ รวมถึงปราบปรามขบวนการยาเสพติดและผู้ต้องสงสัยที่มีความคิดสุดโต่ง องค์กรดังกล่าวอาจจะถูกใช้เป็นเครื่องมือไล่ล่าผู้มีความเห็นต่างทางการเมืองของบางประเทศ ตามรายงานของเอพี
พลตำรวจตรี อัล-ไรซี่ ถูกกล่าวหาว่าพัวพันการทรมาน และถูกร้องเรียนเกี่ยวกับกรณีอาชญากรรมใน 5 ประเทศ รวมถึงฝรั่งเศส และตุรกี
ส่วน นายหู ปินเฉิน เป็นตัวเเทนจากจีน ซึ่งเป็นประเทศที่ถูกต้องสงสัยว่าใช้หน่วยงานตำรวจสากลกำราบนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลปักกิ่ง
ทั้งนี้ในอดีต นายเมิ่ง หงเหว่ย ตัวเเทนของจีนที่ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานอินเตอร์โพล เมื่อ 5 ปีที่เเล้ว หายตัวไปขณะเดินทางกลับประเทศจีน และในขณะนี้เขากำลังอยู่ในเรือนจำ ในข้อหาคอรัปชั่นที่มีโทษจำคุก 13 ปีครึ่ง
สำนักข่าวเอพีสัมภาษณ์ภรรยาของเขา ซึ่งกล่าวว่า การเอาผิดเมิ่ง หงเหว่ยมีเหตุผลทางการเมืองอยู่เบื้องหลัง
สำหรับ พลตำรวจตรี อัล-ไรซี่ แห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในตอนนี้เขาเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหารอินเตอร์โพลอยู่แล้ว
เขากล่าวผ่านโพสต์บนเว็บไซต์ LinkedIn ว่ายูเออีให้ความสำคัญต่อ “การปกป้องสิทธิมนุษยชนภายในประเทศและในระดับสากล"
อย่างไรก็ตาม ไม่นานนี้หน่วยงานสิทธิมนุษยชน MENA Rights Group ระบุในรายงานว่าสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นประเทศที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่เป็นประจำ
รายงานดังกล่าวระบุว่า ภายใต้กิจการความมั่นคงของยูเออี เกิดเหตุการณ์อุ้มหาย และการข่มขู่ ตลอดจนการควบคุมตัวโดยพลการ และการทรมาน โดยมีเหยื่อเป็นนักข่าว นักรณรงค์และทนายความ
และมีเหตุการณ์ที่ชาวอังกฤษสองรายที่กล่าวหาว่าทางการยูเออีใช้อำนาจโดยมิชอบ ในการทรมานพวกเขา และทั้งสองเดินเรื่องฟ้องศาลเพื่อเอาผิด พลตำรวจตรี อัล-ไรซี่ และเจ้าหน้าที่ยูเออีคนอื่นๆ ในอังกฤษ นอกจากนี้ยังร้องเรียนเพื่อดำเนินการทางอาญาในประเทศฝรั่งเศส นอร์เวย์และสวีเดน
หากว่า นายตำรวจผู้นี้ ถูกสั่งดำเนินคดีในฝรั่งเศสเขาอาจจะถูกควบคุมตัวเพื่อให้เจ้าหน้าที่สอบปากคำหากเดินทางเข้าฝรั่งเศส
(ที่มา: สำนักข่าวเอพี)