Your browser doesn’t support HTML5
นักวิเคราะห์ชี้ว่า คำเชิญของผู้นำเกาหลีเหนือ คิม จอง อึน ที่ต้องการให้ ปธน.เกาหลีใต้ มูน แจ-อิน เดินทางเยือนกรุงเปียงยาง ถือเป็นการขัดกับความพยายามของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ต้องการกดดันเกาหลีเหนือให้ยุติโครงการพัฒนาอาวุธอำนาจทำลายล้างสูง
ผู้นำเกาหลีเหนือ คิม จอง อึน ส่งคำเชิญผ่านไปทางน้องสาวของตน คิม โย จอง ซึ่งเดินทางเยือนเกาหลีใต้และร่วมในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่เมืองพย็องชาง อยู่ในขณะนี้ เพื่อให้ ปธน.เกาหลีใต้ มูน แจ-อิน เดินทางเยือนกรุงเปียงยางเพื่อร่วมประชุมสุดยอดสองเกาหลี
คำเชิญดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก ซึ่งทางสำนักงานประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ระบุว่า ปธน.มูน ยินดีตอบรับคำเชิญครั้งนี้
ความพยายามกระชับความสัมพันธ์ของสองเกาหลี เกิดขึ้นในขณะที่สหประชาชาติและสหรัฐฯ กำลังกดดันเกาหลีเหนืออย่างหนัก ผ่านมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจ เพื่อให้เปียงยางยุติโครงการทดสอบขีปนาวุธและโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์
บรรดานักวิเคราะห์และอดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ต่างชี้ว่า คำเชิญดังกล่าวถือเป็นหมากที่ฉลาดอย่างยิ่งของผู้นำ คิม จอง อึน เพราะอาจจะทำให้เกิดความไม่ลงรอยกันขึ้นได้ ระหว่างรัฐบาลกรุงวอชิงตันกับรัฐบาลกรุงโซล แม้ว่าก่อนหน้านี้ ปธน.มูน แจ อิน ได้มีท่าทีสนับสนุนมาตรการลงโทษของสหประชาชาติต่อเกาหลีเหนือก็ตาม
คุณเคน กอส (Ken Gause) ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการต่างประเทศของ Center for Naval Analyses กล่าวว่า ในอดีต การหารือกันระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้มักจบลงด้วยความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจที่ให้กับเกาหลีเหนือ ซึ่งหากการประชุมครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้นนี้มีผลลัพธ์แบบเดียวกัน ก็อาจส่งผลเสียต่อยุทธศาสตร์เพิ่มแรงกดดันของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีต่อกรุงเปียงยางได้
ขณะที่ คุณบรู๊ซ คลิงก์เนอร์ (Bruce Klingner) อดีตเจ้าหน้าที่ CIA ซึ่งขณะนี้รับตำแหน่งนักวิจัยอาวุโสอยู่ที่สถาบัน Heritage Foundation กล่าวเตือนว่า หากเกาหลีใต้ตกลงให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจต่อเกาหลีเหนือ อาจเข้าข่ายละเมิดมาตรการลงโทษของสหประชาชาติได้
ที่ผ่านมา รัฐบาล ปธน.มูน แจ-อิน ใช้นโยบายรักษาสมดุลระหว่างเพื่อนบ้าน คือ เกาหลีเหนือ กับพันธมิตรสำคัญ คือ สหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงการเชื้อเชิญให้เกาหลีเหนือส่งนักกีฬามาร่วมในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวที่เมืองพย็องชาง โดยตั้งความหวังว่าผู้นำกรุงเปียงยางจะยินดีกลับสู่โต๊ะเจรจาเพื่อระงับโครงการนิวเคลียร์
ในขณะเดียวกัน ก็พยายามคลายความกังวลของสหรัฐฯ ที่สงสัยว่าเกาหลีเหนืออาจกำลังใช้กลยุทธ์สร้างความเห็นอกเห็นใจ เพื่อให้บรรเทามาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจและซื้อเวลาสำหรับการพัฒนาอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูงเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม อาจารย์เดนนิส ไวล์ดเดอร์ (Dennis Wilder) ผู้เชี่ยวชาญด้านกิจการเอเชียตะวันออก ที่มหาวิทยาลัย Georgetown ให้ความเห็นว่า ปธน.มูน ควรยื่นเงื่อนไขบางอย่างไปยังผู้นำคิม จอง อึน ก่อนที่จะรับคำเชิญ นั่นคือ รัฐบาลเปียงยางต้องตกลงที่จะกลับสู่โต๊ะเจรจากับรัฐบาลสหรัฐฯ ว่าด้วยการยกเลิกโครงการนิวเคลียร์เสียก่อน
เช่นเดียวกับ คุณโจเซฟ เดอทรานี (Joseph DeTrani) อดีตผู้แทนพิเศษในการเจรจากับเกาหลีเหนือ ที่เชื่อว่า ปธน.มูน จำเป็นต้องขอคำยืนยันจาก คิม จอง อึน ว่าจะมีการเจรจาเรื่องการระงับโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือระหว่างการพบหารือครั้งนี้
ทางด้าน รอง ปธน.สหรัฐฯ ไมค์ เพนซ์ ซึ่งเป็นผู้แทนของสหรัฐฯ เข้าร่วมในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่เกาหลีใต้ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ตนได้พูดคุยกับ ปธน.มูน เกี่ยวกับการหารือร่วมกันของผู้นำเกาหลีใต้และเกาหลีเหนือแล้ว และเชื่อมั่นว่า รัฐบาลเกาหลีใต้จะเลือกยืนข้างสหรัฐฯ ต่อไป ในการกดดันและโดดเดี่ยวเกาหลีเหนือ จนกว่ากรุงเปียงยางจะยอมยกเลิกโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์
(ผู้สื่อข่าว Jong Su Oh รายงาน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)