Your browser doesn’t support HTML5
ถือเป็นการกลับมาทวงบัลลังก์ 'เจ้าแห่งเมนูแมลง' ของประเทศไทย เมื่อสื่อต่างชาติ ทั้ง AP, Bloomberg, และเว็บไซต์วิจารณ์อาหาร fine dining ต่างให้ความสนใจกับร้านอาหารในกรุงเทพมหานคร "Insects in the Backyard" ที่ยกระดับแมลงทอดที่โด่งดังตามย่านนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทย ไปสู่ครัวตะวันตกชั้นสูง
ถือเป็นฉีกกฏการรับประทานแมลงแบบดั้งเดิม และสอดรับกระแสเมนูแมลงที่ได้รับความนิยมมากขึ้นทั้งในอาเซียน ญี่ปุ่น รวมทั้งฝั่งตะวันตก
อย่างที่กัมพูชา มีร้านอาหารฟิวชั่นสไตล์ฝรั่งเศสในนครวัต ที่เชฟจากแดนน้ำหอมนำแมงป่องและแมงมุมยักษ์ทารันทูลาที่ได้รับความนิยมในกัมพูชา มาทำเป็นอาหารชั้นดีได้
ส่วนที่ญี่ปุ่น ที่ยืนยันว่าเป็นประเทศที่บริโภคแมลง หรือ Entomophagy มายาวนานตั้งแต่สมัยเอโดะ ตามข้อมูลของ Mie University แมลงยอดฮิต 3 ชนิดที่นั่น ได้แก่ ตั๊กแตน ดักแด้ และตัวอ่อนผึ้ง และแทรกซึมในอาหารคาวหวาน อาทิ Tsukemen ราเมนแมลง และเมนู Tsukudani ที่เป็นการนำแมลงไปต้มกับซอสถั่วเหลือ น้ำตาล และสาเก
Huffington Post นำเสนอร้าน Little Food ร้านขายอาหารและผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกชื่อดังของเบลเยียม ที่ทั้งเพาะเลี้ยงขายโปรตีนจากแมลงหลากหลายรูปแบบ เริ่มจากจิ้งหรีดอบแห้งหลากหลายรสชาติ ซึ่งมีทั้งรสกระเทียมและรสมะเขือเทศ และนำแมลงไปทำเป็นแป้งโปรตีนเพื่อใส่ในอาหารเมนูอื่นๆได้ สำหรับคนที่อยากลองรับประทานแมลงแต่ตะขิดตะขวงใจในรูปลักษณ์
ปัจจุบัน องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ผลักดันการรับประทานแมลง ว่าเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ให้โปรตีน ไขมัน และแร่ธาตุที่ดีกว่าเนื้อสัตว์ทั่วไป ขณะที่การเลี้ยงแมลงเพื่อเป็นอาหารยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำกว่าปศุสัตว์ทั่วไป
โดย Reuters ระบุว่า เมื่อเทียบปริมาณโปรตีนในจิ้งหรีดกับโปรตีนในเนื้อวัวด้วยสัดส่วนเท่ากัน จะพบว่าวัวนั้นจะต้องใช้อาหารในการผลิตโปรตีนมากกว่าถึง 25 เท่า ใช้น้ำมากกว่าถึง 300 เท่า แถมยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าถึง 60 เท่า
ความท้าทายของเมนูแมลง คือ การยอมรับแมลงในฐานะอาหารเหมือนเนื้อสัตว์ประเภทหมู ไก่ เนื้อ ปลา และอาหารทะเลต่างๆ และการรักษาฐานผู้ที่ชื่นชอบเมนูแมลงในรูปแบบ fine dining ที่ยังเป็นตลาดใหม่ที่น่าจับตา!