หน่วยงานด้านความมั่นคงทางทะเลของอินโดนีเซียเปิดเผยในวันพฤหัสบดีว่า ได้ขับไล่เรือยามฝั่งจีนที่เข้าป่วนการสำรวจพลังงานในน่านน้ำอินโดนีเซียซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทะเลจีนใต้ถึง 2 ครั้งในสัปดาห์นี้
ที่ผ่านมา อินโดนีเซียเผยว่า ตรวจพบเรือยามฝั่งจีนเข้ามาในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (exclusive economic zone – EEZ) ของตนหลายครั้งก่อนหน้านี้ โดยเหตุการณ์ล่าสุดเกิดขึ้นหลังประธานาธิบดีปราโบโว ซูเบียนโต ปฏิญาณตนรับตำแหน่งได้ไม่กี่วัน
จีนกล่าวอ้างอธิปไตยของตนเหนือพื้นที่น่านน้ำเกือบทั้งหมดของทะเลจีนใต้โดยอ้างถึง “เส้นประ 9 จุด” บนแผนที่ของตน โดยพื้นที่ดังกล่าวกินเข้าไปในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของมาเลเซีย บรูไน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียและเวียดนาม
ศาลอนุญาโตตุลาการถาวร ณ กรุงเฮก ตัดสินในปี 2016 ว่า คำกล่าวอ้างอธิปไตยของจีนนั้นไม่มีมูลในทางกฎหมายระหว่างประเทศ แต่กรุงปักกิ่งก็ไม่ยอมรับคำตัดสินนี้
ในส่วนของการเผชิญหน้าครั้งล่าสุดนี้ อินโดนีเซียระบุว่า เกิดขึ้นใกล้กับกาะนาตูนา ซึ่งอยู่ห่างจากเกาะไห่หนานของจีนราว 1,500 กิโลเมตร
หน่วยงาน Bakamla ซึ่งรับผิดชอบความมั่นคงทางทะเลของอินโดนีเซียระบุในแถลงการณ์ที่เผยแพร่ออกมาเมื่อวันจันทร์ว่า ในเหตุการณ์นี้ เรือจีนยืนยันว่ากำลังแล่นอยู่ในพื้นที่ในอำนาจปกครองกรุงปักกิ่ง
หน่วยงานของอินโดนีเซียกล่าวด้วยว่า Bakamla จะลาดตระเวนและเฝ้าสังเกตการณ์อย่างละเอียดในน่านน้ำของเกาะนาตูนาเหนือต่อไป เพื่อให้ภารกิจการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับแผ่นดินไหวดำเนินไปโดยที่อธิปไตยของอินโดนีเซียไม่ได้รับผลกระทบ
SEE ALSO: ฟิลิปปินส์-ไต้หวัน-มาเลเซีย ร่วมไม่รับแผนที่ทะเลจีนใต้ฉบับใหม่ของกรุงปักกิ่งและในวันพฤหัสบดี หน่วย Bakamla กล่าวว่า เรือของจีนวนกลับมาอีกครั้ง แต่ถูกสกัดไว้และถูกขับออกไป โดยไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดว่า เรือลำดังกล่าวมาทำอะไร
และในวันเดียวกัน หลิน เจี้ยน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ระบุในการแถลงข่าวว่า เรือยามฝั่งของจีนทำการลาดตระเวนตามปกติในน่านน้ำที่เป็นของจีน และกล่าวว่า “จีนพร้อมที่จะยกระดับการสื่อสารและการปรึกษากับอินโดนีเซียผ่านช่องทางการทูต และดูแลจัดการปัญหาทางทะเลของสองประเทศอย่างเหมาะสม”
ทั้งนี้ จีนยังยืนยันคำกล่าวอ้างอธิปไตยด้วยการส่งเรือยามฝั่งมาแล่นทั่วทะเลจีนใต้เสมอมา และบางครั้งเรือเหล่านี้ถูกประเทศเพื่อนบ้านต่าง ๆ กล่าวหาว่า มีพฤติกรรมรุกรานและพยายามก่อกวนกิจกรรมด้านการประมงและธุรกิจพลังงาน
ในปี 2021 เรือของอินโดนีเซียและจีนแล่นไล่หลังกันเป็นเวลาหลายเดือนใกล้ ๆ กับฐานขุดเจาะน้ำมันที่ดำเนินการประเมินบ่อน้ำมันในทะเลนาตูนาอยู่ โดยในเวลานั้น จีนร้องขอให้อินโดนีเซียหยุดเจาะน้ำมันในพื้นที่ที่อ้างว่า เป็นอาณาเขตของตน
- ที่มา: รอยเตอร์